วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ประวัติ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน


ครอบครัว

เป็นลูกชายคนโตของ นายสนอง บุณโยทยาน และ นางบัวคลี่ (รัตนสัค) บุณโยทยาน เกิดที่บ้านประตูหวาย ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2479

เป็นหลาน ปู่ ร.ต.อ.ขุนเรนทร์เสนีย์ (สวน บุณโยทยาน), ย่า นางอั้น บุณโยทยาน, ตา ขุนรัตน์ราชชน (สมบุญ รัตนสัค), ยาย นางแสงหล้า รัตนสัค, น้า นายแพทย์สมศาสตร์ รัตนสัค (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตอำเภอพานหลายสมัย), น้า อาจารย์สมสรวง (รัตนสัค) คุณวินัย จิวังกูร (ที่รักใคร่สนิทสนมมากตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเป็นเลขาธิการพรรค)

มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อนายกองสิน (ปัจจุบันชื่อ ทรัพย์สิน) บุณโยทยาน

ภรรยาชื่อ นางทัศนีย์ บุณโยทยาน และมีลูกสาวสองคนชื่อ ดุษฎี บุณโยทยาน และ วีรุทัย (บุณโยทยาน) หาญประวีณ

การศึกษา

- ขั้นต้นที่โรงเรียน สามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย

- ขั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนปรินส์รอแยล จังหวัดเชียงใหม่

- อุดมศึกษาที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

- ได้รับปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2502

- เรียนปริญญาโทที่ University of Kansas เมื่อ พ.ศ. 2506 ด้วยทุน Fulbright-Hayes Scholarship ได้รับ Master’s degree in Sociology เมื่อ พ.ศ. 2507

- เรียนปริญญาเอกที่ Cornell University เมื่อ พ.ศ. 2510 ด้วยทุน Rocky Feller Scholarship ได้รับ Ph.D in Sociologoly เมื่อ พ.ศ. 2514

การทำงาน

- หลังจากจบปริญญาตรี ด้วยการมีความสามารถในภาษาอังกฤษ และมีความเข้าใจในระบบราชการไทยเป็นอย่างดี จึงได้รับการว่าจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ United State Information Service (USIS, Bangkok)

- หลังจบปริญญาโท เป็นอาจารย์ประจำวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2508-พ.ศ. 2510

- ระหว่างทำปริญญาเอก เป็นสมาชิก American Sociology Association เป็นสมาชิก Association for Asian Studies ที่เข้าร่วมประชุมแทบทุกปีและเสนอผลงานในปี ค.ศ. 1968 และ ค.ศ. 1971

- หลังจบปริญญาเอก เป็น Visiting Professor ที่ Harvard University หนึ่งปี และที่ University of Hawaii อีกหนึ่งปี

- กลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2515

- เป็นอาจารย์ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- เป็นอาจารย์ให้กับนิสิตปริญญาโท ภาควิชาสื่อสารมวลชนและประชาสัมพันธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- เป็นอาจารย์พิเศษให้กับวิชาสังคมวิทยา มหาวิยาลัยมหิดล

- เป็นกรรมการสมาคมสังคมวิทยาแห่งโลก

- เป็นหนึ่งในหนึ่งร้อยผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ 6 ตุลาคม 2516 ในขณะที่อยู่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก

- เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช)

- เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2516 หรือสภาสนามม้า จากทั้งหมด 2,347 คน เพื่อทำหน้าที่เลือกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 299 คนเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515

- เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย



พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

สำหรับ "พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย" นั้นเป็นการรวมตัวกันกับกลุ่มคนที่ต้องการผลักดันให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับความเป็นธรรม สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย อย่างแท้จริง ได้แก่กลุ่มนักการเมืองแนวสังคมนิยม คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม และนายไขแสง สุกใส นักวิชาการก้าวหน้าอย่าง ดร.แสง สงวนเรืองและผู้นำนักศึกษา ได้แก่ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย จรัล ดิษฐาอภิชัย ประสาร มฤคพิทักษ์ ปรีดี บุญซื่อ ธัญญา ชุนชฎาธาร วิรัติ ศักดิ์จิระพาพงษ์ สมคิด สิงสง วิสา คัญทัพ และผู้นำระดับท้องถิ่น เช่น วิชัย หินแก้ว เฉลิมและเลียมละออ กลางสาธร สุรสีห์ ผาธรรม อุดม ตะนังสูงเนิน ศรีศักดิ์ นพรัตน์ กมล กมลตุงวัฒนา และที่มีบทบาทสำคัญคือ ธีรยุทธ บุญมี ลุงฟัก ณ สงขลา ลุงแช่ม พนมยงค์(มุตตาฟา) และบางส่วนจาก “กลุ่มคน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” และ “13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นจุดสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รวมถึงที่ลงสมัคร สส. ในนามของพรรค ได้แก่ ประยงค์ มูลสาร อุดร ทองน้อย ประเสริฐ เลิศยะโส ศิริ ผาสุก สุทัศน์ เงินหมื่น อินสอน บัวเขียว อาคม สุวรรณนพ ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ พิรุณ ฉัตรวานิชกุล พีรพล ตรียะเกษม และสมาชิกกลุ่ม 6 และกลุ่มแท็กซี่ก้าวหน้า โดยในที่สุด มีที่ทำการพรรคแห่งแรก ณ. บ้านเลขที่ 20 ซ.ร่วมมิตร ถนนพระราม 6 กทม.

- 26 มกราคม พ.ศ.2518 สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขตบางรัก ที่กรุงเทพ กับ ดร.นพพร สุวรรณพาณิช แต่ไม่ได้รับเลือก

- 29 มิถุนายน พ.ศ.2518 สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่ เชียงใหม่ แทนนาย ทองดี อิสราชีวิน ที่ถึงแก่กรรม แต่ไม่ได้รับเลือก



ลำดับเหตุการณ์เสียชีวิต

- 28 กุมภาพันธุ์ พ.ศ.2519



01.30 น. ดร.บุญสนอง บุณโยทยานขับรถซีตรองสีขาว กท.อ.7888 มาคนเดียวถึงปากซอยหมู่บ้านมงคลนิเวศน์ เพื่อจะกลับบ้านพักที่ บ้านเลขที่ 28 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เขตพญาไท กรุงเทพถูกยิงด้วยอาวุธปืน เป็นเหตุให้รถแฉลบลงคูข้างทาง และตัวดร.บุญสนองเสียชีวิตทันที

- 29 กุมภาพันธุ์ พ.ศ.2519



12.00 น. ดร.ทัศนีย์ บุณโยทยาน พร้อมด้วยลูกสาว 2 คนกับมารดาและน้องชายได้ไปขอรับศพจากโรงพยาบาลเพื่อไปตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดตรีทศเทพ

12.25 น. คณะกรรมการกลางและสมาชิกพรรคสังคมนิยมประมาณ 40 คน ได้นำรถบรรทุกศพของวัดตรีทศเทพมาถึงรพ.ตำรวจ แล้วเคลื่อนศพดร.บุญสนองขึ้นรถ จากนั้นเคลื่อนขบวนออกขากโรงพยาบาลโดยมีรถยนต์ของญาติและพรรคสังคมนิยมประมาณ 30 คันติดตามเป็นขบวน ตั้งศพที่ศาลา 4 ญาติสนิทและผู้เคารพนับถือทยอยกันเข้ามารอคอยเวลาทำพิธีรดน้ำศพ โดยมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศรอทำข่าวเป็นจำนวนมาก

16.30 น. ทำพิธีรดน้ำศพ มีผู้เข้าร่วมพิธีคือสมาชิกในครอบครัวได้แก่ นางบัวคลี่ ดร.ทัศนีย์ ลูกสาว2 คน น้องชาย และญาติคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ประธานพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย นักการเมืองจากพรรคต่างๆ เช่นนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ นายวีระมุสิกพงศ์ นายกระแส ชนะวงศ์ และสมาชิกทั่วประเทศของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และนักศึกษา ประชาชน ประมาณ 3,000 คน และชาวต่างประเทศอีกนับร้อย

- 1 มีนาคม พ.ศ.2519 พิธีไว้อาลัย ดร.บุญสนอง ที่หอประชุมธรรมศาสตร์



16.30 น. ประกอบด้วย ดร.ทัศนีย์ บุณโยทยาน พ. อ. สมคิด ศรีสังคม หัวหน้าพรรคสังคมนิยม ดร.สืบแสง พรหมบุญ โฆษกพรรคพลังใหม่ และอ.สุดาทิพย์ อินทร นายธงชัย วินิจจะกุล กล่าวสดุดี ดร.บุญสนอง ว่าเป็นผู้ที่ต่อสู้และยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกับชักชวนประชาชน นิสิตนักศึกษาจำนวนกว่า 2000 คนที่เขาร่วมจนแน่นหอประชุมให้ร่วมเดินทางไปยังวัดตรีทศเทพ เพื่อเคารพและไว้อาลัยแด่ดร.บุญสนองอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยเริ่มออกเดินทางเมื่อ

18.00 น. โดยหยุดไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเวลา 1 นาที แล้วเดินทางต่อ เมื่อถึงวัดตรีทศเทพมีประชาชนร่วมขบวนไปเคารพศพด้วยรวมแล้วกว่า 5000 คน โดยเป็นไปอย่างสงบและมีระเบียบ

- 3 มีนาคม พ.ศ.2519 ปราศรัย ตามรอยเลือดบุญสนอง ที่ท้องสนามหลวง

16.00 น. มีปราศรัยครั้งใหญ่และร่วมอาลัย ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน โดยการนำของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 10,000 คน นำปราศรัยโดย พอ.สมคิด ศรีสังคม และ ดร.ทัศนีย์ บุณโยทยาน จากนั้น นายอเนก จันทรปัญญา ผู้แทนศูนย์นักเรียนครูแห่งประเทศไทย นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคสังคมนิยม นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และนายวิรัติ ศักดิ์จิระภาพงษ์ รองเลขาธิการพรรค นายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ประธานสหภาพแรงงานไฟฟ้า นายพินิจ จารุสมบัติ แนวร่วมต่อต้าเผด็จการแห่งชาติ และนายธีรยุทธ บุญมีได้ขึ้นมากล่าวถึงการตายของดร.บุญสนอง

19.30 ได้เดินขบวนไปเคารพศพ ที่วัดตรีทศเทพ

- 6 มีนาคม พ.ศ.2519



14.00 น.ณาปนกิจศพที่วัดตรีทศเทพ มีผู้ไปร่วมพิธีประมาณ 3,000 คน ดร.ทัศนีย์ กล่าวไว้อาลัยต่อ ดร.บุญสนองจากนั้นได้เซ็นชื่อลงบนภาพขนาดใหญ่ของดร.บุญสนอง ตามด้วยผู้ที่ไปร่วมพิธี คือ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ นพ.กระแส ชนะวงศ์ และนิสิตนักศึกษาประชาชน ซึ่งภาพเขียนนี้ ทางพรรคสังคมนิยม ได้นำไปตั้งไว้ยังที่ทำการพรรคในเวลาต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น