วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย


ก่อนจะมาเป็นพรรค

จากกระแสสูงของประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมทั้งทางด้านวิชาการและการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ภายในช่วงเวลา เพียง 1 ปีประชาชนก็ต่างพากันขานรับอุดมการณ์สังคมนิยม ที่เป็นความหวังในการปลดปล่อยพลังชีวิตของผู้ทุกข์ยากในแผ่นดินจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบโดยคนกลุ่มน้อยที่มีอภิสิทธิ์อำนาจในสังคมไทย ดังนั้นความคิดในการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมจึงเป็นไปตามคำเรียกร้องต้องการของประชาชนในยุคนั้น และสำหรับการก่อตั้ง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย นั้นรวมตัวกันได้ไม่ยากนัก คล้ายกับว่ามีสายน้ำหลายสายที่พร้อมจะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลเชี่ยวได้ทันที โดยเริ่มจากกลุ่มคนจาก 3 สายที่ร่วมกันเป็นพลังเข้มแข็งดุดันในสังคมไทยในอีก 2 ปีต่อมา

คนกลุ่มแรก เป็นเหล่านักการเมืองแนวสังคมนิยม ที่เคยต่อสู้มาในระบบรัฐสภาอย่างอย่างโชคโชนในยุคก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นลุงชิต เวชประสิทธิ์ จากพรรคสหชีพ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม, อาจารย์บุญเย็น วอทอง ฯลฯ จากพรรคสังคมประชาธิปไตย, นายไขแสง สุกใส จากพรรคประชาชน และวิชัย เสวมาตย์ เป็นต้น

ถัดมาเป็น เหล่านักวิชาการก้าวหน้าและโดดเด่นจากรั้วมหาวิทยาลัย ที่มีความคิดในเชิงสังคมนิยม ตั้งแต่นักวิชาการสังคมนิยมที่มีบทบาทและเป็นที่ยอมรับระดับสากลที่ชื่อ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และอีกคนที่มีความรู้ความสามารถซึ่งมีเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ลูกหาให้การยอมรับอย่างสูงคือ ดร.แสง สงวนเรือง อีกทั้งนักคิดและปัญญาชนอีกจำนวนหนึ่ง เช่น อ.ทวี หมื่นนิกร อาจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (จากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) คำสิงห์ ศรีนอก อ.ไร่น่าน อรุณรังสี (นักวิชาการอิสลาม) อ.นพพร สุวรรณพานิช, แหลมทอง พันธุ์รังสี เป็นต้น

กลุ่มสุดท้าย ที่ดุเดือดและมีพลัง คือ บรรดาผู้นำนักศึกษาในยุคนั้น เช่น ประสาร มฤคพิทักษ์, ปรีดี บุญซื่อ, ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, ธัญญา ชุนชฎาธาร, จรัล ดิษฐาอภิชัย, วิรัติ ศักดิ์จิระภาพงษ์, สมคิด สิงสง, วิสา คัญทัพ เป็นต้น และรวมทั้งผู้นำท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง เช่น คุณวิชัย หินแก้ว, เฉลิม เลียมละออ กลางสาธร, สุรสีห์ ผาธรรม, อุดม ตะนังสูงเนิน, ศรีศักดิ์ นพรัตน์, กมล กมลตุงวัฒนา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบางท่านที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวที่มาจากกลุ่มคน 100 คน ที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และที่เป็น “13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญเช่น ธีรยุทธ บุญมี, ลุงฟัก ณ สงขลา (ทนายความที่ว่าความกรณีสวรรคตให้แก่ อ.ปรีดี พนมยงค์), ลุงแช่ม พนมยงค์ (มุตตาฟา) และยังมีกลุ่มคนที่มีบทบาทต่อมาของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยโดยเข้ามาเป็นสมาชิกและลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรคภายหลัง ได้แก่ ประยงค์ มูลสาร, อุดร ทองน้อย, ประเสริฐ เลิศยะโส, ศิริ ผาสุก, สุทัศน์ เงินหมื่น, อินสอน บัวเขียว, อาคม สุวรรณนพ, ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ และ พิรุณ ฉัตรวานิชกุล, พีรพล ตรียะเกษม รวมทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในนามของกลุ่ม 6 และกลุ่มแท็กซี่ก้าวหน้า อีกด้วย

มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องอุดมการณ์ของพรรค แนวทางและนโยบาย สำหรับการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยเริ่มจากที่สำนักงานธรรมรังสี ถนนสุทธิกษัตริย์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บ้านของ ดร.บุณสนอง บุณโยทยาน ในซอยโรงแรมอพอลโล ถนนวิภาวดีรังสิต และที่ทำการพรรคแห่งแรกที่บ้านเลขที่ 20 ซ.ร่วมมิตร ถนนพระราม 6 กทม.


สัญลักษณ์ของพรรค




สี่เคียวเกี่ยวกันในฟันเฟืองมาจากความคิดตรงกันว่า ควรจะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคือ กรรมกรและชาวนา ในขอบข่ายทั่วประเทศ 4 ภาค ที่ออกแบบโดย ศิลปินล้วน ขจรศาสตร์

คำขวัญ คือประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินซึ่งเป็นที่ถูกใจกันทุกฝ่าย

ตำแหน่งผู้นำ คือ ประธานพรรค

.อ.สมคิด ศรีสังคม ประธานพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

ฉะนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจึงมี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นประธานพรรค รองคือ คุณไขแสง สุกใส, เลขาธิการพรรค คือ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และรองเลขาธิการพรรค คือ คุณวิรัตน์ ศักดิ์จิระภาพงษ์ และมีกรรมการบริหาร และผู้ปฏิบัติงานของพรรคอีกจำนวนหนึ่ง

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (พสท) เป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในวันที่ 24 ตุลาคม 2517 ที่ประกอบขึ้นจากสมาชิกที่มีภูมิหลังในการคิดและทำงานเพื่อประชาชนมาแล้วทั้งสิ้น ได้แก่ นักการเมืองแนวสังคมนิยมรุ่นอาวุโส กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่มีความคิดในเชิงสังคมนิยม กลุ่ม 13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญและผู้ร่วมลงชื่อ 100 คน กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช.) อดีตผู้นำและผู้นำนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและในเหตุการณ์ 14 ตุลา รวมทั้งผู้มีอุดมการณ์และผู้รักชาติรและประชาธิปไตยจากหลายสาขาอาชีพ ทั้งสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย ครู นักประพันธ์ ผู้นำชุมชน ทั้งในกรุงเทพและจากต่างจังหวัด และที่สำคัญคือการมีมวลชนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ให้การสนับสนุนพรรคอยู่ทั่วประเทศ


คำประกาศของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย
เมื่อก่อตั้งพรรคใน พ.ศ. 2517

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ระหว่างธรรมกับอธรรม ชนชั้นสูงผู้กดขี่ได้เบียดเบียนและฉกชิงผลผลิตจากแรงงานของเพื่อนมนุษย์ด้วยวิธีการและรูปแบบต่าง ๆ การเบียดเบียนได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของพลังและวิถีการผลิต ได้มีการสร้างกลไกการปกครอง กฎหมาย ตลอดจนวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการกดขี่ขูดรีด ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ระบบการขูดรีดได้เพิ่มพูนพลังขึ้นมาก ระบบการกดขี่แบบทาส แบบศักดินา แบบทุนนิยม มาสู่ระบบจักรพรรดินิยม พฤติกรรมกดขี่เหล่านี้มีลักษณะเป็นอำนาจอธรรม ได้ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล เป็นการทำลายคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนผู้ยากไร้อย่างที่สุด            
การต่อสู้ของมวลชนผู้ถูกกดขี่เป็นการต่อสู้ของฝ่ายธรรมะ กลุ่มชนผู้กล้าหาญได้สละเลือดเนื้อ ชีวิต และประโยชน์สุขส่วนตน ทุ่มเทพลังกาย พลังปัญญา เพื่อให้ได้มาและดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ด้วยความมั่นใจว่าธรรมจะต้องชนะอธรรม พลังต่อสู้จึงนับวันจะหนักแน่นมั่นคงแลขยายตัวออกไปอย่างไพศาล ประเทศไทยตกอยู่ในกงล้อประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ระหว่างธรรมและอธรรมเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก ในระหว่างระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ความร้ายแรงของพฤติกรรมอธรรมให้พอกพูนขึ้นจากพลังชั่วร้ายในประเทศและจากอำนาจจักรวรรดินิยม การกดขี่ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง การกดขี่จากจักรวรรดินิยมต่างด้าวต่อคนไทยเป็นไปอย่างกว้างขวาง
ชนชาวไทยผู้กล้าหาญ ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องเอกราช ประชาธิปไตย เรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เรียกร้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของประชาชนผู้ยากไร้ แต่ได้ถูกปราบปรามและถูกทำลายด้วยวิธีกรต่างๆ นาๆ มีการใช้อำนาจเผด็จการ ใช้อาวุธประหัตประหารผู้ใฝ่ธรรม สร้างกลลวงมารยาสาไถยและความเท็จทำลายผู้บริสุทธิ์ แต่ถึงแม้จะถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วง ประชาชนผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลาย ก็ได้ยืนหยัดต่อสู้มาอย่างอาจหาญและสืบเนื่องตลอดมา
การผนึกกำลังอันแข็งแกร่งของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนเพื่อต่อต้านพลังอธรรมเมื่อเดือนตุลาคม 2516 นับเป็นการแสดงออกอย่างเด่นชัดซึ่งความปรารถนาอันเร่าร้อนของปวงชนในอันที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและก่นโค่นปมปัญหาพื้นฐานของสังคมโดยวิถีทางประชาธิปไตย ปวงชนต่างมุ่งหวังว่า จะได้มีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์และมีการเปลี่ยนแปลงโครงร่างของสังคมไปสู่สังคมที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ปรากฏก็คือนับแต่เดือน ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงข้อมูลฐานและการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์หาได้บังเกิดขึ้นไม่ กลับเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในสังคมต่างพยายามรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และฐานะทางชนชั้นของตน โดยสมคบกันขัดขวางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยเล่ห์เพทุบายนานัปการ ทั้งนี้เพื่อเหนี่ยวรั้งสังคมให้กลับไปสู่สภาพเดิมอันเลวร้ายและผุพัง อภิสิทธิ์ชนดังกล่าวนี้หมายถึงชนชั้นศักดินา นายทุนนายหน้า นายทุนขุนศึก และนายทุนขุนนาง รวมทั้งจักรพรรตินิยมต่างชาติ
เนื่องจากไม่มีการแก้ไขปัญหามูลฐานดังกล่าว ประเทศไทยของเราจึงตกอยู่ในสภาพล้าหลัง ประชาชนประสบความยากเข็ญเดือดร้อน ชาวนา ชาวไร่ ถูกยื้อแย่งทรัพย์สินและตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจของเจ้าหนี้เจ้าที่ดิน กรรมกรถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ประชาชนส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนและการเลือกอาชีพ ขาดหลักประกันในสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สิน การกระจายรายได้เป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม มีความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างความเจริญในเมืองกับในชนบท ชะตากรรมทางเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในมือของนายทุน ขุนนาง ขุนศึก เจ้าขุนมูลนายและจักรพรรดินิยมต่างด้าวที่มุ่งแต่จะหาประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องของตน กลุ่มอภิสิทธิชนเหล่านี้ได้ปล้นชาติ ปล้นประชาชน ใช้ความมั่งคั่งของตนสร้างอำนาจทางการเมืองและทางสังคมต่างๆ ในขณะที่ประชาชนผู้ยากไร้ถูกกดขี้ขูดรีดอย่างหนัก มีชีวิตอยู่ไปวันๆหนึ่งอย่างไร้ความหมาย ไม่สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ต้องอดอยากหิวโหย ไร้การศึกษา เจ็บไข้ได้ป่วย ปัญหาอาชญากรรม โสเภณี ยาเสพติด ระบาดไปอย่างกวางขวาง ประเทศไทยเราขาดอิสรเสรีในหารติดต่อกับต่างประเทศ ต้องตกเป็นสมุนของมหาอำนาจจักรพรรดินิยม โดยถูกบีบบังคับให้ต้องตกเป็นศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้าน
ความทุกข์ยากทั้งหลายนี้ ย่อมเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้น การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่เบียดเบียน และการยื้อแย่งผลประโยชน์ อภิสิทธิชนเพียงหยิบมือเดียวได้เบียดบังเอาผลประโยชน์ไปจากมวลชนตลอดมา กลุ่มอธรรมยังได้บิดเบือนความเป็นจริงและมอมเมามหาชนให้หลงใหลงมงายอยู่กับค่านิยมผิดๆ อันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์
การต่อสู้พลังอธรรมดังกล่าวจักบรรลุชัยชนะได้ ก็ต่อเมื่อมีการผนึกกำลังของมวลชนที่มีกระแสสำนึกในระดับสูง ยึดอุดมการณ์สังคมนิยมที่แท้จริงเป็นหลักดำเนินการทางการเมือง ตามหลักเกณฑ์และโลกทัศน์ที่ถูกต้อง
บัดนี้ประชาชนชาวไทยอันไพศาล ซึ่งประกอบด้วยชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง กรรมกร ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจผู้รับใช้ประชาชน ตลอดจนสมาชิกแห่งพรรคนี้ได้ตระหนักถึงสัจธรรมความเป็นจริงในสาเหตุของความชั่วร้ายทั้งหลายแล้ว มิยอมให้สภาพนั้นดำรงอยู่ได้อีกต่อไป เราในฐานะที่เป็นพลังร่วมกับประชาชนผู้ทุกข์ยาก จึงได้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยขึ้น เป็นพลังทางการเมืองเพื่อรับใช้มวลชน
เรามุ่งมั่นที่จะนำการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ตามอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและในด้านอื่นทุกด้าน
เราขอประกาศยืนหยัดอย่างสุดจิตสุดใจที่จะต่อสู้ คัดค้าน เปิดโปงการกระทำของศัตรูของประชาชนทุกฝ่ายในทุกวิถีทาง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจะต่อสู้กับฝ่ายจารีตนิยม เสรีนิยม และสังคมนิยมจอมปลอมในรูปแบบต่างๆ
พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยถือว่า บรรดาทรัพยากรทั้งหลายทั้งปวงอันได้แก่ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ และอากาศบริสุทธิ์ เป็นทรัพย์สมบัติอันชอบธรรมที่มีอยู่ และต้องดำรงไว้เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทั่วหน้า ผู้หนึ่งผู้ใดหรือชนชั้นหนึ่งชนชั้นใดจะถืออภิสิทธิ์แอบอ้าง ฉกฉวยผูกขาดเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนเอกชนมิได้
เรามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการปลุกเร้าความสำนึก เปิดโอกาสและกระตุ้นให้คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งขาดสิทธิ ขาดโอกาส และไร้ปากเสียงอยู่ในสังคมไทย ทุกวันนี้เรารวมพลังกันอย่างเปิดเผยและเหนียวแน่นเพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะขั้นสุดท้ายอย่างเด็ดเดี่ยว อันหมายถึงชัยชนะของมวลชนในระบบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ เราเชื่อมั่นว่าพลังของมวลชนอันไพศาลต้องประสบชัยชนะ สามารถสร้างสรรค์สังคมนิยมขึ้นในประเทศไทย พลังของเรานับวันจะพวยพุ่งรุ่งโรจน์ และจะดำรงอยู่ชั่วกาลนานอย่างแน่นอน
0 0 0
หลังการประกาศให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองของรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ในกลางปี 2517 ในขณะที่นักการเมืองทั้งหลายยังวิ่งไปหานายทุนใหญ่เพื่อให้มาสนับสนุนพรรคของตน  กลับมีพรรคการเมืองหนึ่งเกิดจากการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งปรารถนาจะเห็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดินสามารถลืมตาอ้าปาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย และได้รับความเสมอภาคเป็นธรรมอย่างแท้จริงด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม กลุ่มคนเหล่านี้ได้แก่นักการเมืองแนวสังคมนิยม ได้แก่ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม, นายไขแสง สุกใส ฯลฯ นักวิชาการก้าวหน้า เช่น ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ดร.แสง สงวนเรือง ฯลฯ รวมทั้งผู้นำนักศึกษาในยุคนั้น ได้แก่ ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, จรัล ดิษฐาอภิชัย, สมคิด สิงสง  และวิสา คัญทัพ ร่วมกันก่อตั้งเป็นพรรคสังคมนิยม ซึ่งอุดมการณ์ในคำประกาศของพรรคสังคมนิยมนี้เป็นความหวังในการปลดปล่อยชีวิตของผู้ทุกข์ยากในแผ่นดินที่เกิดจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบโดยคนกลุ่มน้อยที่มีอภิสิทธิ์อำนาจในสังคมไทย จึงนำมาเผยแพร่และมีการขานรับอย่างกว้างขวางทั่วประเทศในเวลานั้น


นโยบายพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

พรรคสังคมนิยมจะเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะระบอบปกครองแบบรัฐสภา โดยส่งเสริมให้ได้นับถือศาสนา และไม่ให้เสื่อม โดยให้กรมการศาสนากำกับดูแลวัดวาอารามให้ปฏิบัติตามหลักศาสนาโดยเคร่งครัด การดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยม จะไม่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจะมุ่งส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมระหว่างบุรุษและสตรี ทั้งในสิทธิการเข้ารับราชการ สิทธิในการทำงาน สิทธิทางสังคมต่างๆ

นโยบายทางเศรษฐกิจ ยึดถือหลักการจัดระบบเศรษฐกิจตามหลักสังคมนิยมโดยทั่วไป หาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนมีและคนจน ระดมทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปในทางสร้างสรรค์ความเป็นธรรมทางสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยรัฐจะต้องเร่งรัดการผลิต ส่งเสริมการผลิต ด้วยการพิจารณาเวนคืนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับประชาชนโดยส่วนใหญ่ โดยรัฐต้องเข้าควบคุมดำเนินการเอง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเห็นว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจมีสาเหตุมาจากเรื่องการผลิต การลงทุนและการจำหน่ายสินค้า ซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ก็จำเป็นต้องมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคอุปโภคด้วย ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการผลิตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ปอ ข้าวโพด เป็นต้น สำหรับเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจ จากนั้นก็พัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับผลผลิตการเกษตรและทรัพยากรที่มีในประเทศ

แก้ไขการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ประชาชนมีสิทธิ มีส่วนในการปกครองให้มากที่สุด โดยกระจายอำนาจส่วนกลางไปให้ท้องถิ่นให้มากที่สุด ต้องปรับปรุงกระทรวงมหาดไทย โดยให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาจากคนในท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาสงเคราะห์ แก้ไขกลไกการบริหารราชการ โดยจัดการปัญหาข้าราชการเฉื่อยชา มีประสิทธิภาพน้อย และพิจารณาปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมใหม่ โดยอาจมีการยุบหรือตั้งกระทรวงใหม่ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังต้องแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการทางการเมืองให้เด็ดขาด และหาทางป้องกันมิใช้นักการเมืองใช้ข้าราชการประจำเป็นเครื่องมือ โดยกำหนดให้ข้าราชการระดับอธิบดีลงมา มีความเป็นอิสระในการบริหารราชการภายใต้นโยบายของกระทรวง โดยไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงหรือสั่งการของนักการเมือง

ความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง จะต้องเพิ่มสมรรถภาพของข้าราชการตำรวจ ให้มีสรรถภาพในการปราบโจรผู้ร้าย เพิ่มสวัสดิการและเงินเดือนให้แก่ตำรวจชั้นผู้น้อย เลิกยศตำรวจให้เป็นข้าราชการพลเรือน นอกจากยศผู้น้อยถึง ร.ต.อ. หรือ พ.ต.ต. นอกจากนี้ ยังต้องเข้มงวดกวดขันตำรวจในทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

นโยบายด้านการเกษตร รัฐจะต้องหาทางช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง โดยหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องน้ำ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ต้องมีการปฏิรูปที่ดิน โดยเวนคืนที่ดินที่นายทุนถือครองมาให้จัดสรรแก่เกษตรกร รัฐต้องใช้ระบบสหกรณ์จัดการที่ดินหลุดกรรมสิทธิ์ โดยรัฐเวนคืนที่ดินมาแล้วให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ เพื่อจัดสรรแบ่งให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ต่อไป ทั้งนี้ควรมีกฎหมายกำหนดให้นายทุนมีที่ดินในความครอบครองได้ไม่เกินคนละ 50 ไร่เท่านั้น นอกจากการผลิตแล้ว รัฐต้องเป็นผู้จัดหาตลาดสำหรับผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว โดยหาตลาดภายนอกประเทศ และอาศัยรัฐวิสาหกิจดำเนินการนำเข้าและส่งออกภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันก็ต้องประกันราคาสินค้าเกษตรด้วย

การพัฒนาชนบท ต้องมีการพัฒนาถนนให้รถสามารถวิ่งได้ในทุกฤดูกาล เพื่อให้ประชาชนขวนขวายทำมาหากิน และขนส่งสินค้าการเกษตรออกสู่ตลาด รัฐจะต้องพัฒนาคลองส่งน้ำให้ทั่วถึง โดยเฉพาะคลองชลประทานในภาคอีสาน ส่งเสริมชลประทานในตำบลหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งนั้นสำหรับการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูกพืชไร่ต่าง ๆ ให้ได้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

การพัฒนาในเขตเมือง จะต้องกวดขันเรื่องสิ่งแวดล้อมและผังเมือง น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ โดยรัฐบาลจะต้องจัดทำผังเมืองใหม่ในกรุงเทพฯ ไม่ให้เอกชนตัดถนน ตัดซอย ถมดิน หรือจัดสรรที่ดินสำหรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ตามใจชอบ การจัดสรรเขตพื้นที่อุตสาหกรรมต้องมีความเข้มงวดกวดขันโดยรัฐต้องออกกฎหมายกำกับควบคุมการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยเฉพาะการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่ควรแก้ไขบทบัญญัติที่กำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ สำหรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข เพราะเห็นว่าสิทธิเสรีภาพในเรื่องอื่น ๆ มีความสำคัญมากกว่า ส่วนการเลือกตั้งเป็นเพียงการให้สิทธิที่ใช้ได้เพียงแค่วันเดียว

นโยบายด้านการศึกษา พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย จะให้รัฐจัดบริการการศึกษาแก่เยาวชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยให้ทุนการศึกษาอย่างทั่วถึงนับแต่การศึกษาภาคบังคับไปจนถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จะมีการส่งเสริมคุณภาพของครูผู้สอน โดยพัฒนาสวัสดิการสำหรับครูในชนบท แก้ไขปัญหาหนี้สินของครู และสร้างขวัญกำลังใจให้ครูมีความภาคภูมิใจในอาชีพ

นโยบายด้านการสาธารณสุข พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยจะมุ่งทุ่มเทงบประมาณส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชน นับตั้งแต่การวางแผนครอบครัว ส่งเสริมความรู้เรื่องสุขอนามัย ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในเขตชนบท

นโยบายด้านสวัสดิการสังคม พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย จะมุ่งการจัดระบบรัฐสวัสดิการ โดยขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐ ทั้งนี้จะเริ่มต้นจากการจัดระบบรักษาพยาบาลแบบให้เปล่า การจัดระบบประกันสังคม โดยคนงาน และนายจ้างช่วยกันสมทบ จัดให้มีสหบาลกรรมกรเพื่อเป็นองค์กรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานในรูปกองทุนสวัสดิการในยามเจ็บป่วยและว่างงาน มีการจัดระบบสวัสดิการสำหรับคนชรา ผู้อนาถา และคนทุพพลภาพ

บทบาทและผลงาน
ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรก ในวันที่ 26 มกราคม 2518 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้ ส.ส. 15 คน และเมื่อร่วมกับ ส.ส.จากพรรคแนวร่วมสังคมนิยมอีก 10 คน และ ส.ส. จากพรรคพลังใหม่อีก 10 คน รวมเป็น ส.ส.จากพรรคที่มีแนวทางคล้ายกันถึง 37 คน จึงมีอำนาจการต่อรองพอสมควร
โดย ส.ส. 15 คน พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย พ.อ.สมคิด ศรีสังคม, โสภณ วีรชัย, สม วาสนา, เติม สืบพันธ์ จากอุดรธานี, ไขแสง สุขใส จากนครพนม, วิชัย เสวมาตย์ และ สุทัศน์ เงินหมื่น จากอุบลราชธานี, อุดร ทองน้อย และประยงค์ มูลสาร จากยโสธร, ประเสริฐ เลิศยะโส จากบุรีรัมย์, ศิริ ผาสุก จากสุรินทร์, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ อาคม สุวรรณนพ จากนครศรีธรรมราช, เปรม มาลากุล ณ. อยุธยา จากอุตรดิตถ์ และ อินสอน บัวเขียว จากเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น