วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เขียนถึง ดร.บุญสนอง


บุญสนอง บุณโยทยาน
เกิดที่บ้านประตูหวาย ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
เมื่อวันที่  31 ธันวาคม  พ.ศ.2479
บิดา นายสนอง  บุณโยทยาน (ถึงแก่กรรม) มารดา  นางบัวคลี่  บุณโยทยาน
ปู่  ร.ต.อ.ขุนเรนทร์เสนีย์ (สวน  บุณโยทยาน) ย่า นางอั้น  บุณโยทยาน
ตา  ขุนรัตน์ราชชน (สมบุญ  รัตนสัค) ยาย นางแสงหล้า  รัตนสัค
ภรรยา  นางทัศนีย์  บุณโยทยาน
บุตรี  ด.ญ.ดุษฎี  บุณโยทยาน  ด.ญ.วีรุทัย  บุณโยทยาน


อาจารย์บุญสนอง สำเร็จการศึกษารัฐศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ และ M.A. in Sociology จาก The University of Kansas สหรัฐอเมริกา ได้เข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ และคณะสังเคราะห์ศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ในปีการศึกษา ๒๕๑๐ สอบชิงทุนมูลนิธิ Rockefeller เพื่อศึกษาปริญญาเอกจนได้รับ Ph. D (Sociology) , Cornell University ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ๒๕๑๕ ได้รับเกียรติเป็น Senior Fellow East West Center และ Visiting Assistant Professor University of Hawaii สอนนักศึกษาปริญญาตรี โท และ เอก

อาจารย์บุญสนองได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการผู้มีความรู้ความสามารถและมีผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ชัดในหมู่นักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานด้านต่าง ๆ ทางวิชาการได้แก่ งานเขียน งานพิมพ์ตำรา และบทความ งานสัมมนาทางวิชาการ งานวิจัย งานสอนและงานให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา งานธุรการและบริการที่เกี่ยวกับวิชาการ งานเสนอและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างประเทศ งานบรรยายและสอนตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น เป็นอาจารย์พิเศษนิสิตบัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้มักจะได้รับเชิญไปเข้าร่วมประชุมสัมมนาในต่างประเทศ และขององค์การระหว่างประเทศเช่นที่ประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา และได้เป็นกรรมการสมาคมสังคมวิทยาแห่งโลกด้วย ในขณะที่ เป็นอาจารย์นั้นอาจารย์บุญสนองได้มองเห็นปัญหาและความไม่เป็นธรรมที่เป็นอยู่ในสังคม ได้ทุ่มเทกำลังกายและใจเพื่อหาทางแก้ไข ได้เข้าร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ และพยายามปฏิบัติภารกิจในทางเสริมสร้างเพื่อให้มีความเป็นธรรมในสังคมเท่าที่สามารถทำได้

เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๗ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อนุญาตให้อาจารย์บุญสนองลาออกจากราชการเพื่อเข้าสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามความประสงค์ ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์บุญสนองก็ได้อุทิศตนเข้าต่อสู้ตามวิถีทางแห่งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มภาคภูมิ การกระทำและการพูดการเขียนของอาจารย์บุญสนองไม่ได้ส่อให้เข้าใจไปว่าอาจารย์บุญสนองเป็นคอมมิวนิสต์ ตามที่ถูกกล่าวหาประการใดก็หามิได้

การที่อาจารย์บุญสนองต้องมาเสียชีวิตในขณะที่ยังจะทำประโยชน์ให้ได้แก่ส่วนรวมเช่นนี้ ย่อมทำให้อาจารย์และนักศึกษาเป็นจำนวนมากของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดจนอาจารย์หลายคนในต่างประเทศที่เคยรู้จักอาจารย์บุญสนองมีความเศร้าสลดและอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

ผมขอร่วมเสียใจและอาลัยอาจารย์บุญสนอง กับมารดา ภรรยา บุตร และญาติมิตรของอาจารย์บุญสนองด้วย ณ ที่นี้


ป๋วย อึ้งภากรณ์
๓ มีนาคม ๒๕๑๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น