วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

“ปราโมทย์ นาครทรรพ” เขียนถึง “บุญสนอง บุณโยทยาน”


ปราโมทย์ นาครทรรพ


1.
จากหนังสือ เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์  สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์

บุญสนองเรียนวิชาสังคมศาสตร์ ข้าพเจ้าเรียนวิชารัฐศาสตร์ วิชาทั้งสองต่างกันไม่มากแต่บุญสนองเถียงว่ามาก เพราะวิชาสังคมวิทยาเป็นวิชาก้าวหน้า เป็นเรื่องของพลังและการเปลี่ยนแปลงในสังคม ส่วนวิชารัฐศาสตร์เป็นวิชารักษาของเก่า คือรัฐบาลและระบบปกครอง ดังนั้นพวกเรียนรัฐศาสตร์มักจะหัวเก่า ซึ่งก็ไม่ผิด ยุคที่เราเรียนอยู่อเมริกานั้นเป็นยุคทองของนักศึกษาหัวก้าวหน้า

จะเห็นได้ว่าพวกที่แข่งขันในการคัดค้านระบบเก่า คัดค้านสงครามเวียดนามมักจะเป็นนักเรียนทางวิทยาศาสตร์ และสังคมวิทยา พวกชอบเข้าข้างรัฐบาลได้แก่พวกนักเรียนแพทย์ รัฐศาสตร์ และ กฎหมาย
บุญสนองเป็นคนที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองเป็นคนขี้เกียจ เพราะไม่ว่าเมื่อใดที่ปลอดเพื่อนฝูงข้าพเจ้าเข้านอนแต่หัวค่ำ ก็ยังได้ยินเสียงพิมพ์ดีดของบุญสนองต้อกแต้กๆ หรือไม่ก็เสียงบุญสนองเองท่องศัพท์ภาษาญี่ปุ่นงึมงำๆ อยู่ ได้ความว่ายังไม่ได้เข้านอน

บุญสนองเรียนหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตาย ข้าพเจ้าภูมิใจในความสามารถของเขา ที่แผนกสังคมวิทยามีศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงดี อ.โรบิน วิลเลียนส์ นักเรียนมักจะพากันหลบ แต่บุญสนองกลับเข้าคลุก ตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษา

บุญสนองทำคะแนนได้ดีเยี่ยม เขียนเปเปอร์ได้ดีเหมือนฝรั่ง ส่งบทความวารสารที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ก่อนจบปริญญาเอก และหนังสือของ โรบิน วิลเลียมส์ ซึ่งอ่านกันแพร่หลายที่สุดในอเมริกา มีชื่อของบุญสนองเป็นผู้รับความขอบคุณอยู่ด้วย ข้าพเจ้ามั่นใจว่าจะได้เห็นหนังสือแต่งโดย บุญสนอง เป็นตำราเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นสูงในต่างประเทศ

ที่ฮาร์วาร์ด บุญสนองได้เรียนกับศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในโลกหลายคน เช่น ปาร์สัน และสิปเซท เป็นต้น คนหลังเป็นฝ่ายก้าวหน้าและสนใจขบวนการของนักศึกษาเป็นพิเศษ บุญสนองคงจะได้รับอิทธิพลไม่น้อยมาจากลิปเซท

ชีวิตนักศึกษาของบุญสนองเป็นชีวิตที่รุ่งโรจน์ เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ อาจารย์ และวงวิชาการของตนอย่างกว้างขวาง ครั้งหนึ่งยูเนสโก เชิญเขาไปประชุมสังคมวิทยาโลกที่บุลแกเรีย

ในวงการสังคมวิทยาชื่อของบุญสนองเป็นที่รู้จักกันทั่วไป งานหรือแนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อบุญสนอง มาจากนักสังคมวิทยาก้าวหน้า เช่น มิลล์ , ลิปเสท , ดาเรนดอร์ฟ ปัญญาชนเหล่านี้เป็น

พวกที่อยากรับใช้ผู้ที่ถูกกดขี่ในสังคม เป็นพวกที่คัดค้านด้านสงคราม และต่อต้านนโยบายรัฐบาลอเมริกันอย่างไม่หวั่นไหว

บุญสนองเขียนวิทยานิพนธ์ยังไม่ทันเสร็จดีก็ได้รับเชิญไปเป็นศาสตราจารย์รับเชิญ ณ.มหาวิทยาลัยฮาวาย
แม้แต่ชื่อ ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ข้าพเจ้าก็เดาเอาว่ามาจากหัวคิดของบุญสนอง เพราะเป็นชื่อที่มีกลิ่นนมกลิ่นเนยคลุ้งเป็นอเมริกาจ๋าอยู่ บุญสนองและข้าพเจ้าเห็นพ้องกันว่า รัฐบาล อจ.สัญญา ไม่ควรใช้  “ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เผด็จการทิ้งไว้ มาใช้เป็นรากฐานในการร่าง

รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ดูเหมือนทุกฝ่ายจะตกอยู่ในภาวะจำยอม ถึงแม้จะสนใจในรัฐธรรมนูญที่จะร่างออกมาใหม่

เรา ภายหลังบุญสนองจึงได้ร่วมจัดตั้ง และได้รับเลือกเป็นเลขาธิการคนแรกของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พวกเราทุกคนก็เอาใจช่วยขอให้เขาโชคดี  เพราะเชื่อมั่นในความสามารถ ความจริงใจ และความเด็ดเดี่ยวของเขาที่จะรับใช้ชาติบ้านเมืองตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และ บุญสนอง เลขาธิการพรรค ได้แสดงความทระนงองอาจ รักชาติ รักประชาชนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ ข้าพเจ้าทราบว่าบุญสนองทำงานให้กับพรรคอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจ นั่นเป็นลักษณะของเขาไม่ว่าจะทำอะไร เขาไม่เคยย่อท้อที่มีการต่อต้านใส่ร้ายป้ายสี แม้แต่ข่มขู่จะเอาชีวิต
ข้าพเจ้าต้องยอมรับโดยปราศจากความลำเอียงว่า บุญสนองบนโต๊ะของการต่อรอง...เป็นคนที่สมองแล่น วาจาหลักแหลม จุดยืนมั่นคง และรักษาผลประโยชน์ของประชาชน โดยไม่ยอมถอยแม้สักกระเบียดนิ้ว เสรีภาพของประชาชน ความผาสุกของมวลชน ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด

คืนที่บุญสนองถูกล่าสังหาร เขาบอกทัศนีย์ว่าเหงา เขาโทรไปบอกประหยัดให้ตามหาเพื่อน ๆ ข้าพเจ้าไม่ได้พบเขามานาน  คืนหนึ่งก่อนสมัครรับเลือกตั้งได้พบเขาแวบเดียว เขายังครุ่นคิดถึงการเมืองอยู่ แต่คนอื่นบอกว่า เขากำลังจะกลับไปเป็นอาจารย์ที่เกษตร

ใครก็ตามที่ทำร้ายบุญสนอง ขอได้โปรดรับทราบไว้ด้วยเถิดว่า
..........เขาได้ฆ่าลูกชายที่ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย
..........เขาได้ฆ่านักวิชาการที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก
..........เขาได้ฆ่าเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประชาชน

ขอได้โปรดรับทราบไว้ด้วยเถิดว่า
....ลูกชายและเพื่อนที่ดีของประชาชนนั้นฆ่าไม่ตาย....บุญสนอง บุณโยทยาน....จะไม่มีวันตาย.....


2.
จากหนังสือ รำลึกถึง 6 ตุลาคม

บ้านเมืองที่อาจารย์ป๋วยอยากเห็น เพิ่งจะส่งแสงแห่งความหวังรำไรเมื่อ 14 ตุลาคม ทำให้บุคคลหนึ่ง กระโจนพรวดออกมาจากโลกวิชาการเต็มตัว นั่นก็คือดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เจ้าของบ้านที่ ดร.กมล สมวิเชียร เขียนในมติชนว่า คณะนักวิชาการได้คอยดักรับตัวอาจารย์ป๋วยไปจากสนามบิน เพื่อขอร้องให้เป็นผู้นำพรรคการเมือง

ก่อนชะตากรรม 6 ตุลาคมของอาจารย์ป๋วยเพียง 7 เดือน ในตอนดึกของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 ดร.บุญสนอง ถูกลอบสังหารบนถนนวิภาวดีรังสิต ในขณะที่จะเลี้ยวรถกลับเข้าบ้าน

ขณะนั้น เราเพ้อกันว่า เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตอนที่เรียนอยู่เมืองนอก ดร.บุญสนองและเพื่อนๆ ลงมติว่า สิ่งที่อยากเห็นที่สุดในเมืองไทย ก็คือขบวนการยุติธรรม อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า due process of law หรือการรักษาและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเคร่งครัด ที่ทุกคนเชื่อและพึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการหรือศาล

หากจำไม่ผิด ดร.กมล สมวิเชียรเป็นคนบอกผมว่า คณะบุคคลที่สังหารดร.บุญสนอง เกือบหรือฆ่าอาจารย์ป๋วยทั้งเป็น และต่อมาปลิดชีวิตของ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ล้วนแล้วแต่เป็นคนในแวดวงคณะเดียวกันทั้งสิ้น คือผู้ สูญเสียอำนาจ14 ตุลาคม และผู้สืบสันดาน ซึ่งได้หวนกลับมาล้างแค้น จนสำเร็จในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ความผิดของบุคคลทั้งสามที่เหมือนกัน ก็คือ ไปเข้ากับพวก 14 ตุลาคม!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น