ประชาชาติรายสัปดาห์
ปีที่ 2 ฉบับที่ 59,
2 มกราคม 2518
ในระยะนี้เป็นระยะเวลาที่พรรคการเมืองต่าง
ๆ เริ่มรณรงค์หาเสียงกันเป็นการใหญ่
และเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าในพรรคการเมืองแต่ละพรรค
ต่างก็มีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและมีชื่อเสียงเป็นอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
เป็นจำนวนมาก เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของพรรคต่าง ๆ
อย่างจริงจังให้สมกับที่ถูกเขาห้ามกันมานานมีทั้งที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการตำแหน่งต่าง
ๆ หรือเป็นที่ปรึกษาของพรรค และที่อ้างว่าเป็นเพียงที่ปรึกษาหรือกรรมการของพรรคชนิด
“อย่างไม่เป็นทางการ” เท่าที่ “ประชาชาติ” สามารถจะรวบรวมรายชื่อได้ภายในเวลาอันจำกัดก็มีอยู่ถึงร่วม
30 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ที่มีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เท่าที่ทราบยังมีอาจารย์มหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคหลายคนที่มีกิจกรรมในพรรคการเมืองอยู่
การที่อาจารย์
ในมหาวิทยาลัยในยุคนี้แสดงออกถึงบทบาท และความสนใจทางการเมือง ไดรับตำแหน่งสำคัญ ๆ
ในการบริหารประเทศแทนทหาร จนดูคล้ายอำนาจทางการเมืองหลัง 14
ตุลาที่เปลี่ยนมือไป ตลอดจนการพาตัวเองไปทำงานให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำให้ประชาชนเริ่มจะเอะใจ
และพากันคิดพิจารณาว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้น จะมีผลดี และผลเสียอย่างไรบ้าง เช่น
อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก และต่างคนก็เป็นผู้ที่มีความสามารถกันทั้งนั้นพากันลาออกจากมหาวิทยาลัย
มุ่งไปเล่นการเมืองกันเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นไปโดยความสมัครใจด้วยความสำนึกทางการเมืองหรือเลวร้ายถึงขนาดถูกกีดกันให้ออกจากมหาวิทยาลัยไปด้วยวิธีการต่าง
ๆ จึงหันมาเล่นการเมือง ซึ่งจะเกิดผลเสียแก่การศึกษาชั้นอุดมของชาติกว้างขวางสักขนาดไหน
การที่รัฐจะสร้างอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยขึ้นมาสักคนหนึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำกันง่าย
ๆ ในเวลาเพียงปีสองปี งบประมาณที่รัฐต้องจ่ายไปในการส่งอาจารย์แต่ละท่านไปศึกษาต่อ
หรือดูงานในต่างประเทศ จะไม่กลายเป็นการลงทุนในทรัพยากรที่ต้องสูญเปล่าไปหรอกหรือ
หากเราจะมองไปในมุมกลับ
ถ้าพรรคการเมืองต่าง ๆ
ที่ตั้งขึ้นมาในเวลานี้ต่างเป็นพรรคที่ขาดการวิวัฒนาการทางการเมืองอันยาวนาน ขาดนักการเมืองระดับมืออาชีพ
ไม่มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากผู้ทรงคุณวุฒิทางปัญญา
เช่นอย่างบรรดาอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยมัวแต่เก็บตัวอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
การพัฒนาทางการเมืองในรูปพรรคการเมืองจะไปกันได้สักกี่น้ำ
การเมืองยังคงเป็นเรื่องผู้แสวงหาประโยชน์ทางการเมือง
แง่คิดต่าง
ๆ เหล่านี้คงจะมีวิธีตอบได้หลายอย่าง ในโอกาสนี้ “ประชาชาติ” จึงขอเสนอข้อคิดเห็นของอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มาเล่นการเมืองคนหนึ่ง คือ
นายบุญสนอง บุณโยทยาน หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชาชาติ: เป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะมาเล่นการเมือง
บุญสนอง: การตั้งคำถามนี้เป็นการแสดงเป็นการแสดงทัศนะทางการเมืองของผู้ถามอย่างโจ่งแจ้งแล้ว
คำถามเช่นนี้แสดงว่าผู้ถามจะไม่เห็นด้วยที่อาจารย์มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง
ผมไม่ยอมรับว่าผมเล่นการเมือง
แต่ผมมีทัศนะและการแสดงออกในทางการเมืองอย่างแน่นอนและจริงจัง แต่ก่อนก็มีอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยและข้าราชการในกระทรวงต่าง
ๆ เป็นอันมาก เข้าไปมีส่วนรับใช้ผู้มีอำนาจทางการเมืองอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่สมัยจอมพลแปลก
ตลอดจนมาถึงสมัย สฤษดิ์, ถนอม
ก็ปรากฏว่ามีบุคคลในมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นกรรมการกลางที่ปรึกษาของพรรครัฐบาลเผด็จการ
เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ได้นับสิบ ๆ ปีก็ยังไม่เสร็จ เขาเหล่านั้นเกี่ยวกับการเมืองอย่างชัดเจน
และเป็นการเมืองฝ่ายขวาหรือฝ่ายกุมอำนาจ
เป็นที่น่าประหลาดว่าบุคคลนั้นไม่เคยท้วงติงตัวเองว่า “เล่นการเมือง”
หลังตุลาคม
2516 อาจารย์มหาวิทยาลัยรวมทั้งข้าราชการประเภทต่าง ๆ
จำนวนร้อยถูกแต่งตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในทางการเมืองให้แก่รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์
ประชาชนทั่วไปเขารู้ทั้งนั้นว่าคนเหล่านี้ใช้โอกาสและตำแหน่งเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ค่อยมีใครโต้แย้งว่าอาจารย์หรือข้าราชการทั่วไปเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง
ผมกำลังเข้าใจว่าอาจเป็นไปได้ที่ใครก็ตามมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง ฝ่ายขวาหรือฝ่ายที่กุมอำนาจนั้นเขามีสิทธิชอบธรรม
และในทางตรงกันข้ามแม้แต่ประชาชานคนเดินถนนทั่วไป ถ้าลงได้มีกิจกรรมทางการเมือง ในแนวทางของประชาธิปไตยหรือทางซ้ายก็มักจะถูกสาดโคลนกล่าวร้ายป้ายสี
ถูกกลั่นแกล้งจับกุม คุมขังเป็นปรกติธรรมดา
ประชาชาติ: มหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการประจำ
การไปมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองจะดีหรือ
บุญสนอง: กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หรือรัฐมนตรีจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้
กฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองก็มิได้ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกหรือกรรมการพรรคการเมืองแต่อย่างใด
เมื่อเร็ว ๆ นี้นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนคือ ประยูร เถลิงศรี
ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ข้าราชการประจำไม่ให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ๆ
โดยอ้างว่าจะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง ผมไม่มีข้อวิจารณ์ใด ๆ แต่อยากเน้นว่า
งานของอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นงานประเภทเดียวกับข้าราชการประจำโดยทั่วไป
ผู้นั้นก็เข้าใจความหมายของการศึกษาขั้นอุดมศึกษา
และสถาบันมหาวิทยาลัยผิดอย่างยิ่ง
มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของปัญญาและวิชาความรู้
ที่ทุกคนทั้งนักศึกษาและอาจารย์พึงมีเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสังคมในประเทศต่าง ๆ
ที่มหาวิทยาลัยเขาก้าวหน้ามีมาตรฐานสูง
ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างมีกิจกรรมในทางการเมือง และกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างกว้างขวาง
ในทางเมืองไทยเราแม้ว่ามหาวิทยาลัยจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการและถูกรัฐบาลและข้าราชการคอยควบคุมและบีบบังคับอยู่ตลอดเวลา
แต่เนื้อแท้ของมหาวิทยาลัยก็คือ เสรีภาพและความเป็นผู้นำทางปัญญา วิชาความรู้ คนในมหาวิทยาลัยของเราจึงพยายามต่อต้านระบบราชการอยู่ตลอดมา
เช่นที่ห้ามให้ข้าราชการไม่ให้เขียนหนังสือ ห้ามให้สัมภาษณ์หรือพูดถึงสิ่งต่าง ๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครมาบังคับใช้กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้
ผู้ที่กล่าวว่า
อาจารย์ในฐานะเป็นข้าราชการจะใช้อิทธิพลชักจูงลูกศิษย์
และประชาชนทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนนั้น
อันนี้ถือว่าเป็นการแสดงทัศนะทางการเมืองของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาชน ที่ถือว่าประชาชนย่อมโง่เขลาเบาปัญญาจะถูกหลอกถูกต้มโดยง่ายเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเขาเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้ความคิด
ถ้าเขาจะสนับสนุนหรือต่อต้านใคร ย่อมไม่ใช่เป็นเพราะคนนั้นเป็นนักการเมืองหรือมีตำแหน่งสูงอะไร
เขาย่อมพิจารณาถึงหลักเกณฑ์อย่างจริงจังตามเหตุผล
ประชาชาติ: มีคนเป็นห่วงกันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ
อาจารย์จะมีเวลาสอนและทำการค้นคว้าเพียงพอหรือ เพราะมัวแต่ไปยุ่งการเมือง
บุญสนอง: อาจารย์แต่ละคนรวมทั้งผมที่ตัดสินใจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือกิจกรรมการเมืองอื่น
ๆ ก็คงได้ไตร่ตองดูอย่างรอบคอบแล้ว ว่าจะมีเวลาทำงานตามหน้าที่ของตัวมหาวิทยาลัยเพียงพอไหม
แต่ส่วนมากการประชุมทางการเมืองพวกเราทำกันในเวลาตอนกลางคืนหรือ วันเสาร์-อาทิตย์ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนทำมาหากิน แต่เมื่อใดก็ตามถ้าผมมาสามารถจะทำประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่ง
หรือทั้งสองด้านได้เต็มหน้าที่ ผมก็ย่อมจะต้องได้พิจารณาตัวเองอย่างแน่นอน
มิฉะนั้นเพื่อนร่วมงานของผมในแต่ละด้านก็คงจะปลดผมอย่างไม่มีปัญหา
ประชาชาติ: ถ้าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเลือกไปเป็น
ส.ส กันมาก
จะไม่เกิดปัญหาเรื่องขาดอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัยหรือ
บุญสนอง: ถ้าประชาชนสนับสนุนจริงก็คงจะมีปัญหาแน่
แต่ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเป็นกรรมกรกวาดถนน ชาวนา
จะต้องถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในต่างประเทศอาจารย์มหาวิทยาลัยมีบทบาทใกล้ชิดกับการเมืองอยู่ตลอดเวลา
ในฐานะเป็นผู้นำทางปัญญาและวิชาความรู้
บางคนก็เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนแม้ในขณะที่ยังเป็นอาจารย์อยู่
ที่ได้รับเลือกตั้งก็มี ที่ไม่ได้ก็มาก
ประชาชนที่เลือกตั้งย่อมพิจารณาถึงจุดยืนและนโยบายของบุคคลแต่ละคน หรือพรรคแต่ละพรรคเป็นหลักสำคัญมากกว่าตัวบุคคล
ประชาชาติ: จะเป็นไปได้หรือไม่ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องการจะเปลี่ยนอาชีพหรือเปลี่ยนฐานะที่ดีกว่า
บุญสนอง: ผมเชื่อว่าถึงแม้ในขณะนี้จะมีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมากเคลื่อนไหวในทางการการเมืองในพรรคต่าง
ๆ อยู่ก็ตาม คงมิได้หมายความว่าอาจารย์ทุกคนหรือแม้แต่ส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป
จะเข้าสมัครรับเลือกตั้งเพื่อแสวงหาอาชีพใหม่
ผมมีความรู้สึกว่าตามที่อาจารย์ทั้งหลายกระตือรือร้นทางการเมืองขณะนี้คงเป็นเพราะเห็นว่ามันเป็นความจำเป็น
และตัวเองสามารถจะทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ และไม่ใช่แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น
คนไทยทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในทางการเมือง
เพื่อป้องกันมิให้เผด็จการรัฐประหารกลับเข้ามาครอบครองเมือง
และสร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมเราขึ้นใหม่
ให้มีความเป็นธรรมมีความเสมอภาคและสมรรถภาพ
คนที่มีทัศนะต่อต้านการเมืองหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง
นับได้ว่าเป็นคนที่มีความคิดล้าหลังยิ่งกว่านั้น
ผมต้องถือว่าการเมืองเป็นเรื่องของการเสียสละและการรับใช้ประชาชน
การมีบทบาทในพรรคการเมืองเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ จึงไม่เห็นจะมีอะไรแตกต่างจากคนที่ทำงานสังคมสงเคราะห์
ด้านอาสาพัฒนาชนบท หรือการแจกหยูกยาข้าวของคนยากจนเพราะเป็นการกระทำที่หวังจะก่อให้เกิดการประท้วงปัญหาของประชาชน
ทำให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนเข้าใจว่าจะมีผู้แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง
จึงเป็นการรักษาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และก่อให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างแท้จริง
ผมมองไม่เห็นว่าการเมืองจะเป็นเครื่องมือของการสร้างอำนาจ
หรือหาประโยชน์ให้แก่ตัวเองแต่อย่างไรทั้งสิ้น มันทั้งเหน็ดเหนื่อยต้องสละแรงงาน
กำลัง สมอง เวลา แม้แต่เงินทองส่วนตัวเพื่อสร้างสรรค์ความสำนำในหมู่ประชาชน และสร้างองค์กรของพรรคเพื่อเป็นแกนในการต่อสู้
ที่มีผู้อ้างว่า
อาจารย์มหาวิทยาลัยควรเป็นกลางทางวิชาการนั้นพอจะรับฟังได้ แต่จะให้เป็นกลางทางการเมืองทั้ง
ๆ ที่ประเทศชาติกำลังจะล่มจมนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงทางความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคมโดยแท้
สิ่งที่ผมและคนที่อยู่ในแนวทางเดียวกับประชาชนอื่น ๆ
จะได้รับก็มีอยู่อย่างเดียวคือความภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ประชาชน
และสังคมด้วยมุ่งมั่นในอุดมการณ์ และความหวังที่ว่า ปัญหาเลวร้ายต่าง ๆ
ที่ประชาชนในสังคมของเราต้องเผชิญอยู่ ประชาชนก็สามารถจะร่วมกันขจัดให้หมดสิ้นไป
ได้สักวันหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น