ใจ อึ๊งภากรณ์
ผมไม่เคยรู้จัก ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นส่วนตัว
แต่ผมได้ยินชื่อเขามานานและได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเขาพอสมควร
ผมขออนุญาตเรียกเขาเป็น “สหาย”
เพราะเขาเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของขบวนการสังคมนิยมและขบวนการประชาธิปไตยไทย
และเขาคงไม่ถือตัวต้องการเป็น “ท่าน” หรืออะไรแบบนั้น
เพราะเขาใช้ชีวิตและเสียสละชีวิต เพื่อสังคมที่เท่าเทียมกัน
และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ในการอ้างถึงสหายบุญสนองแบบนี้
ผมไม่อยากอ้างชื่อเขามาเพื่อให้ความชอบธรรมกับแนวคิดของผม หรือสิ่งที่ผมกระทำ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญและการอ้างผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
เพื่อทำให้ตนเองดูดี เป็นเรื่องน่าเกลียดไม่สมควร ผมเพียงแต่เสนอว่า สหายบุญสนอง
“เป็นพวกเรา” และ “เรา” ในที่นี้หมายถึงขบวนการของคนที่รักความเป็นธรรม
ขบวนการสังคมนิยม และขบวนการประชาธิปไตย ที่ต่อสู้มายาวนานในประเทศไทย
ขบวนการนี้ยังต่อสู้อยู่ในรูปแบบของคนเสื้อแดงที่กำลังสู้กับอำมาตย์
แต่อย่าไปเสียเวลาเดาว่า สหายบุญสนอง ถ้ายังมีชีวิตอยู่
จะเป็นเสื้อแดงเหมือนผมหรือไม่ เพราะเราไม่มีวันทราบและมันเป็นการเดาในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
บุญสนอง บุณโยทยาน
เป็นนักสังคมนิยมอีกคนหนึ่ง ในหมู่นักสังคมนิยมไทย เช่น ปรีดี พนมยงค์ จิตร
ภูมิศักดิ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ที่เราควรจะศึกษาและเคารพ
และการเคารพที่จริงใจจะมองเขาในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับอิทธิพลจากยุคสมัย
เราวิจารณ์หรือมองต่างมุมได้ จริงๆ แล้วการเคารพต้องประกอบไปด้วยการพยายามพูดความจริงเกี่ยวกับเขาในมุมมองของเรา
สหายบุญสนอง บุณโยทยาน
มีบทบาทสำคัญในการนำแนวสังคมนิยมลงสู่ภาคปฏิบัติของการเมืองโลกจริงผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยในยุคระหว่าง
๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ กับ ๒๕๑๙ การหาเสียงของพรรคนี้ในหมู่บ้านทางภาคเหนือของไทย
ไม่เหมือนการหาเสียงของนักการเมืองนายทุนประเภทที่ไร้นโยบายในสมัยนั้นหรือสมัยนี้
เพราะมีการจัดเวทีประชุมใหญ่ๆ
เพื่อเสนอนโยบายการเมืองแบบสังคมนิยมที่เป็นรูปธรรมกับชาวบ้านรากหญ้า
โดยไม่มีการซื้อเสียง นอกจากนี้สหายบุญสนองอธิบายว่าในการเลือกเขตเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง
พรรคสังคมนิยมและพรรคแนวร่วมสังคมนิยมพยายามลดความสำคัญของตัวบุคคลและเพิ่มความสำคัญของนโยบายทางการเมือง
(สัมภาษณ์ใน Far Eastern Economic Review 17/1/1975; 26) วิธีการนี้ได้ผลพอสมควรเพราะในการเลือกตั้งปี
๒๕๑๘ พรรคสังคมนิยมต่างๆได้ประมาณสิบห้าที่นั่ง
ถึงแม้ว่าพรรคสังคมนิยมไม่ใช่พรรคแนวมาร์คซิสต์เพราะจำกัดการทำงานภายในกรอบของระบบทุนนิยมแทนที่จะวางแผนปฏิวัติล้มระบบ
แต่วิธีการทำงาน และนโยบายต่างๆ ของพรรค สามารถท้าทายแนวกระแสหลักได้มากพอสมควร
และมีประโยชน์ต่อประชาชนธรรมดา เช่นนโยบายปฏิรูปที่ดินที่ให้ชาวนาทุกคนมีใช้อย่างเพียงพอ
นโยบายการศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับพลเมืองทุกคน
นโยบายการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเสนอให้มีการวางแผนเพื่อการผลิต
นโยบายการนำธนาคาร เหมืองแร่
และอุตสาหกรรมน้ำมันมาเป็นของรัฐในขณะที่ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ดำรงอยู่ให้รับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง
หรือนโยบายกระจายอำนาจการปกครองให้คนกลุ่มน้อยเช่นชาวเขาชาวดอย ชาวมุสลิมในภาคใต้
หรือชาวเวียดนามอพยพ เพื่อให้เขาปกครองตนเอง (สัมภาษณ์ใน Far Eastern Economic Review 17/1/1975; 27) นโยบายดังกล่าวถือว่าก้าวหน้ามากและในหลายเรื่องยังไม่เกิดขึ้น
ซึ่งทำให้สังคมไทยล้าหลังอยู่ และยังตกอยู่ในยุคมืด
การต้านผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์
ผ่านการเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สร้างความไม่พอใจในหมู่อำมาตย์
อย่างที่เราเห็นก่อนและหลังยุคนั้น ในภาพรวมมันทำให้เราเห็นว่าอำมาตย์พร้อมจะก่อความรุนแรง
เหตุการณ์นองเลือดและรัฐประหารตลอด เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของตนเองเสมอ สหายบุญสนอง
บุณโยทยาน จึงถูกยิงตายโดยมือปืนของฝ่ายขวาในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ เขา เหมือนจิตร
ภูมิศักดิ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องสละชีพเพื่อการสร้างสังคมใหม่ และในงานศพเขาที่สนามหลวงมีประชาชนไปร่วมมากมาย
ผลงานหลักของเขาที่เป็นบทเรียนสำหรับเราคือในรูปแบบการทำงาน
จุดเด่นคือการเห็นความสำคัญของการเคลื่อนไหวในสังคมเปิดเพื่อช่วงชิงอิทธิพลความผูกขาดทางการเมืองจากชนชั้นปกครอง
ดังนั้นถ้าเทียบกับการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้วมีทั้งข้อดีข้อเสีย
พ.ค.ท. มีข้อด้อยเพราะในปี
๒๕๐๕ เริ่มหันหลังให้กับการต่อสู้ในเมืองของมวลชน เพื่อเน้นการต่อสู้ใต้ดินที่ใช้วิธีการจับอาวุธของคนส่วนน้อยในชนบท
วิธีการต่อสู้นี้ลดความสำคัญของการปลุกระดมมวลชนกรรมาชีพหรือชาวนาในสังคมเปิด
แต่จุดเด่นของ พ.ค.ท. คือการมีชุดความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน(ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับชุดความคิดนี้หรือไม่) ซึ่งช่วยให้พรรคดำรงอยู่ได้นานและไม่พึ่งบุคคลสำคัญๆ
ไม่กี่คน ถ้าเทียบกับ พ.ค.ท. แล้วพรรคสังคมนิยมไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ
เพราะไม่มีเอกภาพในทฤษฎี หลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๙
พรรคสังคมนิยมจึงยอมเข้าป่าไปอยู่ภายใต้แนวของ พ.ค.ท.
ในเรื่องความคิด
สหายบุญสนอง ไม่ค่อยมีบทบาทในการเป็นปัญญาชนสังคมนิยมของฝ่ายซ้ายไทย ทั้งๆ
ที่เขาเป็นปัญญาชน เพราะงานเขียนเขาไม่ท้าทายระบบความคิดของชนชั้นปกครองเท่าไร
เช่นในหนังสือ "มนุษย์กับสังคม" เกือบไม่มีการอ้างถึงแนวมาร์คซิสต์
หรือแนวอื่นในการวิเคราะห์สังคม และมีการนำเสนอแนวคิดสังคมศาสตร์แบบกระแสหลัก เช่นการเสนอว่าในระบบทุนนิยมชนชั้นต่างๆ
ร่วมมือกันได้ แต่ในการวิจารณ์ สหายบุญสนอง แบบนี้ของผม
ผมขอชวนให้เราไม่ลืมด้วยว่า สหายบุญสนอง ไม่เคยอ้างว่าตนเองเป็นมาร์คซิสต์
และคงจะเป็นคนที่บริสุทธิ์ใจในการค้นหาแนวทางสู่สังคมที่เป็นธรรม
เขาเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของขบวนการสังคมนิยมและขบวนการประชาธิปไตยไทย
ดังนั้นใครที่เคารพเขาคงจะสำนึกเองได้ว่าเราต้องต่อสู้ต่อไป ไม่ท้อแท้ เพื่อไม่ให้
สหายบุญสนอง สู้และเสียสละไปโดยเปล่าประโยชน์
อ่านเพิ่ม
บุญสนอง
บุณโยทยาน
(๒๕๔๕) ใน "ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" บรรณาธิการ - สมพร
จันทรชัย สถาบัน
พัฒนาการเมือง กรุงเทพฯ
บุญสนอง
บุณโยทยาน (๒๕๑๘) ดูบทสัมภาษณ์ใน
Far Eastern Economic Review Far (17th January 1975) "Thailand/Interview: The Socialist's
viewpoint" สัมภาษณ์
บุญสนอง บุณโยทยาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น