วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เยือนที่เกิดเหตุลอบสังหาร 'บุญสนอง บุณโยทยาน' เมื่อปี 2519 (จากเว็บไซต์ประชาไท)

รายงานพิเศษจาก 'ทีมข่าวการเมืองสำนักข่าวประชาไท' เมื่อปี 2562 พาสำรวจที่เกิดเหตุลอบยิง 'บุญสนอง บุณโยทยาน' เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นวันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้วในช่วง "ขวาพิฆาตซ้าย" ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยผ่านมา 4 ทศวรรษปัจจุบันจุดลอบยิง 'บุญสนอง' อยู่ที่ปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 และจุดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีวัดเสมียนนารีเป็นหมุดหมายที่เกิดเหตุ

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 1976 ลงข่าวลอบสังหารบุญสนอง บุณโยทยาน

หนังสือพิมพ์ประชาชาติฉบับวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2519 ลงข่าวลอบสังหารบุญสนอง บุณโยทยาน

หนังสือพิมพ์ประชาชาติฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ลงข่าวประชาชนชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2519 ก่อนเดินไปร่วมงานศพบุญสนอง บุณโยทยาน ที่วัดตรีทศเทพ

รถยนต์ซีตรองสีขาว ทะเบียน กท.อ.7888 ของบุญสนอง บุณโยทยาน ตกลงไปในคูน้ำข้างถนนวิภาวดีรังสิต เลยปากซอย 44 (ที่มา: Bangkok Post, 29 February 1976 P.1 และ doctorboonsanong.blogspot.com อ้างจากหนังสือพิมพ์ไม่ทราบฉบับ, ไม่ทราบวันที่พิมพ์)

งานฌาปนกิจบุญสนอง ที่วัดตรีทศเทพ เวลา 14.00 น. วันที่ 6 มีนาคม 2519 (ที่มา: เดลินิวส์, 7 มีนาคม 2519 อ้างจาก doctorboonsanong.blogspot.com)

วันนี้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว หรือเมื่อเช้าเวลา 01.30 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยถูกลอบยิงเสียชีวิต โดยเป็นการเสียชีวิตก่อนการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519

ในคืนเกิดเหตุวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2519 บุญสนองไปร่วมงานเลี้ยงส่งมาโกท์ แฮงกี้ เลขานุการโทสถานทูตออสเตรเลีย ต่อมาเวลา 01.30 น. ของเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 บุญสนองซึ่งขับรถซีตรองสีขาว ทะเบียน กท.อ.7888 มาถึงถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ และขับผ่านหน้าโรงแรมอพอลโล ก่อนถึงปากซอยหมู่บ้านมงคลนิเวศน์ ปัจจุบันคือถนนวิภาวดีรังสิต ซอย 44 เพื่อกลับบ้านพักภายในซอย ได้ถูกยิงจากรถบรรทุกสิบล้อที่ขับตามมาตั้งแต่แยกหลักสี่และแล่นประกบกันมาจนเลยสี่แยกบางเขน พอข้ามสะพานเยื้องหน้าโรงแรมอพอลโลก็เกิดเสียงปืน เป็นเหตุให้รถแฉลบลงคูข้างทาง

หนังสือพิมพ์ประชาชาติวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2519 รายงานว่า มือปืนซึ่งนั่งมาในรถบรรทุกสิบล้อแล่นขนาบข้างด้านขวาของรถบุญสนอง แล้วกระหน่ำยิงเข้าท้ายทอยด้านขวาของบุญสนอง โดยตำรวจนำศพบุญสนองไปที่โรงพยาบาลลเปาโล โดย พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษ กับ พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รุดไปชันสูตรศพ ส่วนหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2519 รายงานว่ามีรถของสถานเสริมสวย "ประโยชน์บิวตี้" ซึ่งกำลังกลับจากเที่ยวงานวัดเสมียนนารี มายังที่เกิดเหตุเพื่อช่วยกันนำบุญสนองออกจากรถ และรีบส่งโรงพยาบาลเปาโลเมื่อเวลา 01.40 น. แต่ปรากฏว่าบุญสนองถึงแก่กรรมเสียก่อน

เยือนสถานที่เกิดเหตุในอีก 4 ทศวรรษถัดมา

ปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 จุดลอบยิงบุญสนอง บุณโยทยาน ภาพถ่ายเดือนตุลาคม 2559

ริมคูน้ำถนนวิภาวดีรังสิต มองจากฝั่งปั๊มเชลล์ไปทางปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 ภาพถ่ายเดือนตุลาคม 2559

ริมถนนวิภาวดีรังสิต ริมคูน้ำด้านปั๊มเชลล์ ด้านหน้าคือถนนวิภาวดีรังสิต ป้ายไฟฟ้าที่ไกลออกไปคือปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 ภาพถ่ายเดือนตุลาคม 2559

ภาพจาก Google Stree View บริเวณปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 จุดลอบยิงบุญสนอง บุณโยทยาน ปัจจุบันบริเวณคูน้ำก่อนถึงปากซอยกลายเป็นจุดขึ้นลงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีวัดเสมียนนารี (ที่มา: Google Stree View/เมษายน 2018)

ภาพจาก Google Stree View แสดงภาพคูน้ำริมถนน ระหว่างปากซอยวิภาวดีรังสิต 44 และก่อนถึงวิภาวดีรังสิต 42 โดยตรงกลางที่เป็นปั๊มเอสโซ่นั้นปัจจุบันคือปั๊มเชลล์ โดยคูน้ำช่วงนี้เป็นจุดที่รถยนต์ของบุญสนอง บุณโยทยานไถลตกลงไป โดยบริเวณนี้ยังอยู่ตรงกลางระหว่างจุดขึ้นลงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีวัดเสมียนนารี ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าทั้ง 2 จุดขึ้นลง (ที่มา: Google Stree View/เมษายน 2018)

แผนที่แสดงจุดเกิดเหตุในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2519

แผนที่แสดงจุดเกิดเหตุในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 ระบุว่ารถของบุญสนอง บุณโยทยาน ไถลตกคูน้ำไกลออกไปจากจุดที่ถูกยิง

ผู้สื่อข่าวสำรวจจุดเกิดเหตุลอบสังหารบุญสนอง ใช้วิธีเทียบข้อมูลและแผนที่ ซึ่งแสดงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยฉบับวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2519 และ Bangkok Post ฉบับที่จำหน่ายวันเดียวกัน พบว่าปัจจุบันจุดลอบยิงบุญสนองคือปากซอย 44 ถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนด้านตรงข้ามกลายเป็นสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง "สถานีวัดเสมียนนารี" โดยบันไดขึ้นลงรถไฟฟ้า ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าทั้ง 2 จุดทางขึ้นลง คร่อมอยู่ระหว่างจุดเกิดเหตุลอบยิงบุญสนอง และจุดที่รถยนต์ของบุญสนองตกลงไปในคูน้ำ

ส่วนจุดที่รถยนต์ของบุญสนองตกลงไปในคูน้ำ หากยึดตามแผนที่ของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย จุดที่รถตกลงไปในคูน้ำจะห่างไปจากปากซอย 44 ถนนวิภาวดีรังสิต เล็กน้อย ขณะที่แผนที่ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่ารถของบุญสนองแล่นเลยปากซอยออกไป เลยหน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่แล้วตกลงไปในคูน้ำก่อนถึงปากซอยสยามไมโคร

โดยปั๊มน้ำมันเอสโซ่ ซึ่งอยู่เลยปากซอย 44 ถนนวิภาวดีรังสิต กลายเป็นปั้มเชลล์ โดยหน้าปั๊มเชลล์ยังมีคูน้ำซึ่งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต และเมื่อตรวจสอบกับ Google Street View ซึ่งอัพเดทเดือนเมษายน 2018 พบว่าจุดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าทั้ง 2 จุด บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้า คร่อมอยู่ระหว่างจุดเกิดเหตุลอบยิงบุญสนอง และจุดที่รถยนต์ของบุญสนองตกลงไปในคูน้ำ

บุญสนอง บุณโยทยาน และกระแสขวาพิฆาตซ้ายหลัง 14 ตุลา

สำหรับบุญสนอง บุณโยทยาน เกิดที่บ้านประตูหวาย ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2479 เป็นอดีตนักเรียนทุน Rockefeller ภายหลังจากจบการศึกษาปริญญาเอกด้านสังคมวิทยามาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลในปี 2514 ได้กลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็น 1 ใน 100 รายชื่อผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากนั้นร่วมก่อตั้งกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช) เคยเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเมื่อปี 2516 เพื่อเลือกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ต่อมาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2517 ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย แม้บุญสนองซึ่งลงเลือกตั้งทั่วไป 26 มกราคม 2518 และเลือกตั้งซ่อมในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันอีก 1 ครั้ง แต่ไม่ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เคยชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. 15 ที่นั่งในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2518 และได้ ส.ส. 2 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไป 4 เมษายน 2519 อย่างไรก็ตามบุญสนองก็ถูกลอบยิงดังกล่าว

จากบทความ "เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร" โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เผยแพร่ในเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา ระบุว่านับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความพยายามแบ่งแยกขบวนการและทำลาย และใช้ความรุนแรงสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน โดยนอกจากการใช้สถานีวิทยุยานเกราะและสื่อมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกข่าวโจมตีขบวนการนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังมีการจัดตั้งพลังมวลชนฝ่ายขวา ใช้การลอบสังหารผู้นำฝ่ายนักศึกษาและขบวนการประชาชน ในกรณีนี้รวมทั้งการลอบสังหารแกนนำของสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยรวมทั้งการทำร้าย และการปาระเบิดใส่ที่ชุมนุมและสถานที่ปราศรัยของพรรคการเมือง โดยระหว่างปี 2517 จนถึงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางการเมืองรวมทั้งกรณี "ขวาพิฆาตซ้าย" ไม่ต่ำกว่า 101 ราย

เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท 28 ก.พ. 2562


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น