วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทสัมภาษณ์: วารสารรายปักษ์ “ศูนย์” สัมภาษณ์ ดร.บุญสนอง


สัมภาษณ์เมื่อ มกราคม 2517
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากวารสารรายปักษ์ ศูนย์ ปักษ์หลัง  ฉบับที่ 3  กุมภาพันธ์  2517 



ศูนย์  ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม เป็นต้นมา เรามี ประชาธิปไตยในเมืองไทยกันแล้วใช่ไหม

ดร.บุญสนอง เรายังไม่มีประชาธิปไตยแม้แต่ในด้านการเมือง แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนโดยศาสตราจารย์สัญญา เป็นหัวหน้าจะอะลุ้มอล่วยให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการพูดการเขียนและการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในด้านต่างๆ และเพื่อเผยแพร่ทัศนะ ทางการเมือง แต่อนาคตนั้นอยู่ที่ว่าจะมีการเปลี่ยนกลไกทางการปกครองที่ทำให้เป็นประชาธิปไตยกันจริงๆหรือไม่

ดร.บุญสนอง ถ้าว่าเฉพาะประชาธิปไตย ทางการเมืองก็หมายถึงรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คนไทยทั่วไปรวมทั้งผมต่างก็สนใจศึกษาร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการร่างฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว ที่ผมสนในเป็นพิเศษก็คือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันมีอะไรใหม่กว่าฉบับเก่าบ้าง เพราะฉบับเก่านั้นแทบทั้งหมดมิได้ให้หลักประกันการเป็นประชาธิปไตย

ศูนย์  มีอะไรบ้างที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขัดกับประชาธิปไตย

ดร.บุญสนอง เช่นการเมืองสภาสองประเภทโดยให้ราษฎรมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกได้เพียงประเภทเดียว แต่อีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าวุฒิสภาจะให้เป็นแบบแต่งตั้งผมว่าราษฎรคงไม่ยอมรับเพราะสมาชิกประเภทนี้อาจจะไม่รักษาผลประโยชน์ของเขา และเป็นผู้แทนของเขา

ศูนย์  อาจารย์คิดว่ารัฐธรรมนูญจะออกเมื่อไร

ดร.บุญสนอง ไม่ทราบ ได้ยินแต่ว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว ขนาดนัดประชุมเพิ่มอีกอาทิตย์ละครั้งทีเดียวเพื่อจะนำเสนอสภานิติบัญญัติให้ทันวันที่ ๑ มีนาคม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อยู่ที่สภานิติบัญญัติว่าจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าใด

ศูนย์  สภานิติบัญญัติควรจะใช้เวลานานสักเท่าไหร่

ดร.บุญสนอง ถ้าจะทำกันจริงๆ ก็ไม่น่าจะเกินเดือนหนึ่งหรืออย่างมากเดือนครึ่งหรือสองเดือน แต่เรื่องสำคัญมิใช่อยู่ที่เขาจะใช้เวลานานเท่าไร ที่สำคัญก็คือทั้งคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติจะเต็มใจและกล้าหาญพอที่จะแก้ไขสาระสำคัญบางประการในร่างรัฐธรรมนูญไหม

ศูนย์  มีสาระสำคัญอะไรอีกบ้างนอกจากเรื่องวุฒิสภา

ดร.บุญสนอง รัฐบาลจำต้องจัดให้มีการลงประชามติโดยคนไทยทั้งประเทศว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญบางมาตราหรือบางหมวด เช่นที่ว่าด้วยการปกครองของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นต้น เพราะที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบ่งไว้แต่เพียงว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ราษฎรปกครองตัวเองโดยให้เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ทุกระดับ การเขียนไว้แต่เพียงเท่านั้น โดยมิได้กำหนดให้ชัดเจนลงไปว่าจะให้ราษฎรเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้กำกับ ผู้บังคับกองตำรวจและนายอำเภอ การปกครองตนเองโดยการเลือกตั้งจะไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมันยังมีกฎหมายการปกครองส่วนภูมิภาคค้านไว้อยู่ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังเขียนไว้ด้วยซ้ำว่าการปกครองในท่องถิ่นต่าง ๆ หรือจังหวัดต่าง ๆ  จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จึงได้กล่าวว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาความไม่เป็นประชาธิปไตยในด้านนี้

ศูนย์  รัฐสภาจะมีส่วนทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

ดร.บุญสนอง ประการแรกถ้ารัฐบาลยืนยันที่จะไม่กำหนดให้มีการลงประชามติสมาชิกสภานิติบัญญัติจำต้องจัดให้มีการลงมติ ประการที่สอง ถ้าสมาชิกสภานิติบัญญัติมีเจตนาจะช่วยกันสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่แท้จริง สมาชิกสภานิติบัญญัติจำต้องร่วมกันแก้ไขหมวดและมาตราต่าง ๆ ที่ขัดต่อการเป็นประชาธิปไตย

ศูนย์  มีเรื่องอะไรอีกบ้างที่อาจารย์เห็นควรแก้

ดร.บุญสนอง การปฏิรูปที่ดินและการยกฐานะคนจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนา ไม่ควรเขียนไว้แต่เพียงว่าแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะให้ราษฎรทำประโยชน์จากที่ดินตามความเหมาะสมเพียงแค่นั้น ถ้าจะสร้างประชาธิปไตย จำต้องเน้นความเสมอภาพในทางเศรษฐกิจ ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่าคนทุกคนจะมีที่ดินทำกินได้ไม่เกินกี่ไร่ จะมีมากว่านั้นไม่ได้ จะมีที่ดินไว้ให้เขาเช่าเอาแป๊ะเจี๊ยะ หรือทำนาแบ่งครึ่งไม่ได้หรือจะซื้อที่ทิ้งไว้ไม่ทำประโยชน์เพื่อให้ราคาขึ้นหรือให้ลูกหลานเป็นเศรษฐีไม่ได้ เมื่อคนสะสมที่ดินไม่ได้ เก็บค่าเช่านาไม่ได้ เพราะผิดรัฐธรรมนูญ ในที่สุดชาวนาก็จะไม่ถูกใครแย่งข้าว ถึงแม้จะขายก็จะไม่มีคนซื้อเพราะผิดรัฐธรรมนูญ

ศูนย์  คนที่มีที่ดินมาก ๆ เป็นหมื่นเป็นพัน ๆ ไร่อยู่เดี๋ยวนี้จะใช้รัฐธรรมนูญทำอย่างไรกับเขา

ดร.บุญสนอง กำหนดให้เขาขายให้รัฐบาลตามราคาที่รัฐบาลเห็นควร แต่รัฐบาลต้องนำไปจัดสรรแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่เป็นคนทำประโยชน์โดยแท้จริง วิธีนี้เป็นวิธีการแบบสังคมนิยม ซึ่งเน้นความยุติธรรมในการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประเทศและการมีโอกาสได้รับประโยชน์จากสังคม เช่นในด้านการศึกษา การักษาพยาบาลและการพ้นภัยจากการกักตุนและขึ้นราคาสินค้า รัฐธรรมนูญที่จะเป็นประชาธิปไตย และเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนจำต้องยึดหลักทางสังคมนิยมมิฉะนั้นก็จะเป็นเพียงตัวอักษรที่เปิดช่องให้นักการเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้ามาอ้างพยายามขายประชาชน แต่ตัวเองก็ไม่ทำอะไร เพื่อขจัดปัญหาที่แท้จริงของประชาชน เพราะติดขัดเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์เก่าแก่ของชนชั้นที่ได้เปรียบอยู่แล้วในทุกทาง

ศูนย์  ถ้าจะมีการลงมติจะไม่ทำให้ใช้ เวลางบประมาณมากมายหรือ

ดร.บุญสนอง น่าจะทำได้ภายในเวลาเพียงอาทิตย์สองอาทิตย์ เพราะประเด็นที่ควรลงมติคงจะมีไม่มากเกินกว่าสิบประเด็น ราษฎรเพียงแต่ฉีกบัตร ไม่รับ ข้อความที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญส่วนค่าใช้จ่ายนั้นก็คงจะมากพอควร แต่ถ้ารัฐบาลและหรือสภานิติบัญญัติเต็มใจและกล้าหาญพอที่จะสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ผู้เสียภาษีก็คงไม่รังเกียจที่จะให้เอาเงินของเขาไปใช้ในทางนี้ ยิ่งกว่านั้นการมีส่วนลงประชามติจะทำให้ราษฎรทั่วประเทศตื่นตัวสนใจการสร้างและปกป้องประชาธิปไตยอย่างจริงจัง เป็นการปูพื้นฐานในการเลือกตั้งไปพร้อมกันด้วย

ศูนย์   ถ้าราษฎรไม่รับร่างบางมาตราโดย การลงมติ จะต้องทำอย่างไรต่อไป

ดร.บุญสนอง ก็ต้องแก้ร่างให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของราษฎรส่วนใหญ่และเมื่อแก้ไขให้ตรงกับที่ราษฎรต้องการแล้วก็น่าจะประกาศใช้ได้เลย เพราะจะต้องถือว่าราษฎรมีเสียงมีสิทธิ์ และมีอำนาจมากกว่ารัฐบาล มากกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวนสิบแปดคน และแม้แต่สภานิติบัญญัติก็ตาม เถอะ

ศูนย์  อาจารย์อยากพูดอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

ดร.บุญสนอง ผมอยากถือโอกาสเร่งเร้าให้ ประชาชนชาวไทยทุกคนศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ และร่วมกันเรียกร้องให้มีการลงประชามติในประเด็นต่าง ๆ ที่ผมไม่พอใจก็มีอีกประเด็นหนึ่ง คือที่จะตัดสิทธิ์ ลงคะแนนเลือกตั้งของพระสงฆ์ใน พุทธศาสนา ทั้ง ๆ ที่นักบวชในศาสนาอื่น ทุกศาสนา และแม้แต่คนตาบอดสองข้างก็ยังให้สิทธิ์เขา พระภิกษุต้องถูกบังคับให้เป็นทหารเช่นเดียวกับชายฉกรรจ์ในวันเกณฑ์ทุกคนแต่กลับห้าม ท่านใช้สิทธิขั้นมูลฐานทางการเมือง แม้แต่การเลือกผู้แทนนี้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมนักร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิบแปดคนและผู้ร่างกฎหมายเลือกตั้งจึงพากันถือว่าตัวมีอำนาจนำสถาบันการปกครองเข้าไปแทรกแซงสถาบันศาสนา คือ เข้าไปตัดสิทธิ์พระ ถ้าจะอ้างว่าศาสนาพุทธห้ามไว้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งผมเองคิดว่าไม่ได้ห้าม หน้าที่ที่จะตัดสินว่าอะไรเป็นข้อห้ามอะไรเป็นวินัยอะไรผิดศีลก็ย่อมจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะตัดสินหรือตีความหมาย มิใช่เรื่องของชาวบ้านแน่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่ได้รับเกียรติยศใหญ่หลวงให้ทำงานร่างกติกาของประเทศแทนประชาชน อย่างเช่นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น เขาถืออย่างไรจึงสรุปเอาง่าย ๆ ว่าพระภิกษุตั้งแสนกว่ารูปเป็นประชาชนน้อยกว่าเขาและน้อยกว่าคนตาบอดทั้งสองข้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น