วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทความ: พรรคการเมืองต่างกันอย่างไร ตัวอย่างจากอินเดีย


ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน

หมายเหตุ: ส่วนหนึ่งของบทความถอดความมาจากสารนิพนธ์ของ ศาสตราจารย์รามากฤษณา มุเคอร์จี นายาสมาคมสังคมวิทยาแห่งประเทศอินเดีย Systematization of Value – load of Social Development ซึ่งเสนอต่อชุมนุมทางวิชาการสังคมวิทยา ว่าด้วยการพัฒนาทางสังคมในเอเชีย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๑๖ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๖


.

เป็นที่เข้าใจกันว่า  ความหมายอันหนึ่งของประชาธิปไตยที่คนไทยจำนวนมากร่วมกันต่อสู้และหวังกันว่าจะได้มาในเร็ววันนี้ คือโอกาสและเสรีภาพที่จะเสนอหลักและวิธีดำเนินการในทางการเมืองเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำสังคมของเราไปสู่อนาคตที่แจ่มใสกว่าและดีกว่า โอกาสและเสรีภาพที่จะเสนอหลักและวิธีดำเนินการในทางการเมือง เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำสังคมของเราไปสู่อนาคตที่แจ่มใสกว่าและดีกว่า โอกาสและเสรีภาพที่ว่านี้คือ โอกาสและเสรีภาพที่จะรวมพลังเป็นพรรคการเมือง แล้วพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะเสนอแนวนโยบายของตนให้มหาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่าเขาต้องการอะไร กล่าวคือต้องการให้พรรคที่สัญญาว่าจะจัดการสังคมวิธีไหนและวางรากฐาน เพื่ออนาคตแบบใดเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยเป็นรัฐบาล

ที่ผ่านมาแล้ว คนไทยเราแทบจะไม่มีโอกาสได้ทราบแนวความคิดและข้อเสนอของคนหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่นอกวงการของรัฐบาลเผด็จการเลยหลักวิธีและจุดหมายของการดำเนินการทางการเมืองที่เราต้องรับฟัง และไม่มีสิทธิโต้แย้งแต่อย่างใด ก็คือหลักวิธีและจุดมุ่งหมายในทางการเมืองที่ผู้เผด็จการบีบบังคับให้แก่เราเท่านั้น ในสภาพสังคมอย่างนั้น ผู้มีอภิสิทธิ์ที่ทำอะไรก็ได้ แล้วคนอื่นที่จำต้องถือว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งถูกสิ่งดีอยู่ตลอดเวลาก็มีอยู่เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น คือกลุ่มคนที่ใช้อำนาจกดขี่ผู้อื่นอยู่โดยทุกวิถีทาง ถ้าจะว่าไปกลุ่มผู้เผด็จการก็คือพรรคการเมืองเดี่ยวหรือพรรคผูกขาดที่ไม่มีใครจะคัดค้านหรือทักท้วงได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือด้วยประชามติก็ตาม

ความคับแค้นของมหาชนต่อการขาดสิทธิเสรีภาพและโอกาสที่จะเลือกวิถีทางอนาคตแบบที่ตัวต้องการเป็นสิ่งที่มหาชนไม่ได้เก็บไว้แต่ในใจของคนแต่ละคน มหาชนมีการแสดงออกซึ่งการต่อต้านสภาพสังคมที่กดขี่ในรูปต่าง ๆ ในด้านนักศึกษา การปฏิวัติเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ มิใช่อุบัติเหตุหรือไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีพื้นฐานแต่เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งของการดิ้นรนเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้ก่อตัวขึ้นมาตามธรรมชาติ เพราะความไม่พอในในสภาพที่เป็นอยู่

นอกจากนักศึกษาและประชาชนส่วนอื่น ๆ ในชุมชนนาคร มหาชนในชนบทก็ได้แสดงออกทั้งโดยการรวมกลุ่มเพื่อต่อต้านทางการเมืองและทางอาวุธเช่นในนามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นต้น ที่มิได้รวมกลุ่มก็แสดงออกในฐานะเอกชนคือการเคลื่อนย้ายที่อยู่และละทิ้งอาชีพเดิมไปหาอาชีพใหม่ทั้งที่ถูกกฎหมายและศีลธรรมและที่ไม่ถูก

.

ทั้งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และนิสิต นักศึกษาต่างก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับอำนาจเผด็จการอย่างผิดกฎหมาย ศูนย์นิสิตนักศึกษาเคยถูกผู้เผด็จการโจมตีว่าเป็นกิจกรรมเถื่อน เช่นเดียวกับกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เห็นได้ว่าทั้งสองกลุ่มมีลักษณะร่วมกันอยู่บางอย่าง คือ ต่างก็มีองค์กรและกลไกในการดำเนินงานเพื่อโค่นล้มอำนาจเผด็จการของรัฐบาลไทยชุดก่อน ๑๔ ตุลาคม และต่างก็มีการเคลื่อนไหวในด้านแสวงหาความนิยม ด้านขยายอิทธิพลในหมู่ประชาชน และด้านบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลเผด็จการ ที่ต่างกันก็คือขบวนการนิสิตนักศึกษาเป็นขบวนการที่เกิดขึ้น และเติบโตในเมืองใหญ่และดำเนินการได้อย่างเปิดเผยพอควร ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์มีอาณาเขตการทำงานส่วนใหญ่อยู่ในชนบทโดยไม่มีการเผยตัวผู้นำ และที่สำคัญก็คือนิสิตนักศึกษาไม่เคยต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ใช้วิธีประท้วงและเรียกร้อง คือใช้อำนาจที่มาจากจำนวนคนมากกว่ากำลังคน แต่คอมมิวนิสต์ใช้อาวุธเป็นเครื่องมืออยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะมีกลวิธีอย่างอื่นอยู่ด้วยก็ตามที รัฐบาลเผด็จการที่หมดอำนาจไปแล้วยืนยันอยู่ตลอดเวลา ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีต่างชาติสนับสนุนและมีผู้นำอยู่ในต่างประเทศ ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลชุดนั้นก็โจมตีนิสิตนักศึกษาว่าได้รับอิทธิพลมาจากภายนอก หรือมีผู้ร่วมมืออยู่นอกประเทศ

การที่ประชาชนไทยอย่างเช่นนิสิตนักศึกษาและคอมมิวนิสต์ถูกกีดกันไม่ได้ให้มีส่วนร่วมในทางการเมือง และไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกโดยถูกต้องตามกติกาซึ่งแนวความคิดและเจตนารมณ์ของตนนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนทั้งกลุ่มนี้ ต้องใช้วิธีรุนแรงเพื่อให้คนที่เป็นสมาชิกในสังคมโดยส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ควบคุมอำนาจในรัฐ ได้ทราบถึงความต้องการของตน การที่นิสิตนักศึกษาได้รับความต้องการของตน การที่นิสิตนักศึกษาได้รับความสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากนักเรียน และประชาชนทั่วไปในกลางเดือนตุลาคม ก็นับได้ว่าแนวความคิดและเจตนารมณ์ ในทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาเป็นสิ่งที่ประชาชนเหล่านั้นเห็นชอบด้วยในด้านพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเป็นพรรคเถื่อนหรือพรรคที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ การที่มีคนไทยทั้งในชนบทและในกรุงพากันให้ความสนับสนุนอยู่ ถึงแม้อาจจะเป็นเพียงคนจำนวนน้อยก็กล่าวได้ว่าผู้สนับสนุนเหล่านั้นมีความนิยมและเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ ตราบใดที่คอมมิวนิสต์ยังเป็นบุคคลหรือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่ ผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ก็จำต้องสนับสนุนด้วยวิธีการนอกกฎหมายซึ่งย่อมรวมไปถึงการใช้วิธีรุนแรงด้วย

.

ถ้าการเป็นประชาธิปไตยจะมีความหมายด้วยว่า ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพบริบูรณ์ที่จะเชื่อจะกระทำ หรือจะเลือกแนวนโยบายทางการเมืองใด ๆ ที่คนแต่ละคนเห็นดีหรือเห็นชอบด้วยก็น่าจะเป็นของแน่นอนว่าประชาชนคนไทยตั้งเกือบ ๔๐ ล้านคนจะต้องมีความคิดความเห็นแตกต่างกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานนี้มีหลักประกันอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาชนคงจะเต็มใจแสดงออกอย่างไม่ปิดบัง

การแสดงออกนี้คงจะเป็นไปในทางรวมบุคคลขึ้นเป็นพรรคการเมือง และโดยให้ความสนับสนุนพรรคการเมืองแต่ละพรรค เมื่อเป็นดังนี้ประชาชนทั่วไปก็จะมีโอกาสทราบแนวความคิดวิธีดำเนินการและจุดหมายของพรรคแต่ละพรรคแล้วแต่ละพรรคก็คงจะ หรือน่าจะสร้างลักษณะสำคัญเฉพาะอย่างเป็นของตัวเองให้มีอะไรแน่นอนพอควรไว้เสนอต่อประชาชนเพื่อพิจารณาสนับสนุนหรือคัดค้าน

เพราะระบบพรรคการเมืองยังไม่เจริญในประเทศไทย คนไทยจึงมีประสบการณ์น้อยในเรื่องการชิงชัยอย่างโจ่งแจ้งของพรรค ที่คนไทยเคยเห็นหรือเคยมีส่วนร่วมมาบ้างแล้วนั้นก็เป็นเพียงการต่อสู้กันในวงจำกัด และส่วนมากพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ก็ใช้อิทธิพลของตัวเข้าบังคับหรือชักจูงใจให้ทั้งทหารตำรวจและข้าราชการพลเรือนแม้แต่นักเลงนอกราชการเอาเปรียบพรรคอื่นอย่างยุติธรรม จึงกล่าวได้ว่าการรณรงค์ระหว่างพรรคการเมืองของไทย แทบจะไม่เคยเป็นไปในแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสแสดงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเลย ยิ่งกว่านั้น พรรคการเมืองที่เคยมีก็แทบจะมิได้เสนอแนวทางการบริหารและการเปลี่ยนแปลงสังคมในขั้นมูลฐานแต่อย่างใด ทั้งพรรครัฐบาลฝ่ายค้านมักจะฝักใฝ่อยู่เฉพาะประเด็นของความขี้โกงของคนในพรรคอื่นโดยมิได้ให้ความสนใจหรือแสดงว่ามีความเข้าใจต่อเนื้อแท้หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาคดโกง และรวบอำนาจเหล่านั้น แต่ละพรรคที่เคยมีมาจึงดูจะมีลักษณะเหมือนกันเสียมากกว่าต่างกัน คือส่วนใหญ่เน้นเรื่องการเปลี่ยนตัวบุคคล หรือเปลี่ยนพรรคแต่มิได้เสนอให้แก้ไขโครงสร้างของสังคมโดยส่วนรวมแต่อย่างใด

ความไม่แตกต่างกันของพรรคการเมืองนั้นไม่ใช่มีแต่เฉพาะในเมืองไทย ในประเทศอื่นหลายประเทศที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค เช่น ญี่ปุ่นและอินเดียซึ่งต่างก็มีพรรคอยู่ประเทศละห้าพรรค พรรคการเมืองบางพรรคแทบจะเหมือนกันทั้งในด้านนโยบายและเป้าหมายทางการเมือง ในอเมริกาพรรคเดโมแครดกับรีพับพลิกันซึ่งผลัดกันเข้าครองอำนาจบริหารต่างก็เป็นพรรคนายทุน ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากวงการธุรกิจ เพราะฉะนั้นจึงตกอยู่ใต้อิทธิพลของบรรษัทการเงิน และอุตสาหกรรมเหมือน ๆ กัน ขณะเดียวกันวงการกรรมกรของเมริกาก็พยายามส่งอิทธิพลต่อพรรคที่เป็นรัฐบาลทั้งในทางการเงินและทางการเมือง ทั้งสองพรรคนี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การักษาระบบเศรษฐกิจเอกชนซึ่งแท้ที่จริงมีการผูกขาดกันอย่างกว้างขวาง แนวนโยบายต่างประเทศก็ไม่มีอะไรต่างกัน เพราะต่างก็ต้องการธำรงความเป็นมหาอำนาจของอเมริกาในทางทหาร และไม่ปรากฏว่าพรรคหนึ่งพรรคใดเคยแสดงความจริงจังต่อการให้อเมริกาเลิกไปวุ่นอยู่กับเรื่องของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จนคนโจมตีกันตลอดมาว่าอเมริกาเป็นจักรวรรดินิยมทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ

การพิจารณาความจริงเกี่ยวกับพรรคแต่ละพรรคจะมองจากชื่อพรรคเท่านั้นก็ไม่ได้ เช่น พรรคสังคมนิยมในบางประเทศอาจจะเป็นพรรคที่สนับสนุนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็ได้ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์อย่างในฝรั่งเศสและญี่ปุ่นก็ปรากฏว่ามีแนวโน้มไปในทางอนุรักษนิยมมากกว่าทางการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง พรรคกรรมกรในอังกฤษก็ปรากฏว่ามีแต่คนชั้นสูงเป็นผู้นำ ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองใดจะมีอะไรเสนอและมีความมุ่งมั่นต่ออะไรอย่างแท้จริงจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องติดตามสอดส่องอยู่อย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณาประเด็นในทางการเมืองเป็นประเด็น ๆ ไป

.

ในโอกาสที่เมืองไทยเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมีความหวังกันว่าจะมีการเลือกตั้ง และมีการก่อตังพรรคการเมืองขึ้นหลายพรรคโดยมีเสรีภาพที่จะกำหนดแนวทางต่าง ๆ ให้ประชาชนพิจารณา ผู้เขียนขอเสนอตัวอย่างของพรรคการเมืองทั้งห้าพรรคในประเทศอินเดีย ที่เลือกเล่าเรื่องพรรคการเมืองอินเดีย ก็โดยที่อินเดียเป็นประเทศเอเชียที่ยังล้าหลังเช่นเดียวกับไทย แต่ถึงแม้อินเดียจะมีปัญหาพิเศษในทางประชากรและในทางประเพณีการจัดวรรณะ โดยถือชาติกำเนิดเป็นเกณฑ์ ทั้งประชาชนก็ยากจนเป็นส่วนมาก และยังพูดภาษาแตกต่างกันนับร้อยภาษาแต่การเมือง และการปกครองของอินเดียไม่เคยถูกผู้เผด็จการทหารเข้าควบคุมเลย นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากนักล่าอาณานิคมอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา รัฐบาลทุกชุดของอินเดียเป็นรัฐบาลพลเรือน แม้ว่าพรรคคองเกรสจะคุมอำนาจตลอดมา แต่นายกรัฐมนตรีของอินเดียทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคนี้ก็เข้าสู่ตำแหน่งเพราะสมาชิกโลกสภา (รัฐสภาอินเดีย) ซึ่งราษฎรเลือกให้เข้าไปเป็นผู้แทนยังสนับสนุนอยู่

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพรรคการเมืองของประเทศอินเดียข้างล่างนี้น่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างแก่คนไทยในระหว่างที่เรากำลังช่วยกันสร้างประชาธิปไตยในสังคมเราอยู่ทุกวันนี้


ก.เป้าหมาย

พรรคภราตีย์ ชนะสังข์ (ช.ส.)

ยอมรับความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนต่าง ๆ

ของสังคมและในการดำรงชีวิตของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็แสวงหาหนทาง หรือปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความสามัคคี แนวคิดเรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจะมาขัดขวางการร่วมมือกันอย่างถาวรของประชานไม่ได้

2. พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย พรรครัฐบาล (พ.ค.ช.อ.)

พรรคคองเกรสปฏิญาณอีกครั้งหนึ่งที่จะนำการปฏิวัติแบบสังคมนิยมโดยสันติและประชาธิปไตย จะอุ้มปวงชนทั้งผอง และจะเข้าร่วมกับวิถีชีวิตของประชาติในทุกด้าน

3. พรรคสังคมนิยม (พ.ส.)

พรรคสังคมนิยมเชื่อว่า การที่จะบรรลุเป้าหมายทางสังคมนิยมด้วยสันติวิธี และตามครรลองประชาธิปไตยนั้น  ไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่จะทำได้แต่อย่างเดียว หากยังเป็นสิ่งที่น่าทำด้วย พรรคสังคมนิยมปฏิญาณอย่างจริงจัง ว่าจะขจัดความเหลื่อมล้ำทั้งหลายทางสังคมและเศรษฐกิจ และจะก้าวไปสู่สังคมที่เป็นสังคมนิยมซึ่งหมายถึงสังคมที่สิทธิและเสรีภาพของสามัญชนทุกคนจะต้องได้รับการพิทักษ์คุ้มครองและประชาชนส่วนที่เสียเปรียบจะได้รับการปลดปล่อยจากการกดขี่ทางสังคม และการขูดรีดทางเศรษฐกิจของทรราชย์เก่าแก่ของสังคม

๔. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย (พ.ค.อ.)

ล้มการปกครองโดยพรรคคองเกรสหรือโดยรัฐบาลศักดินาชุดอื่น ๆ แล้วสถาปนารัฐบาลซึ่งประกอบด้วยชนชั้นและพลังที่ต่อต้านจักรวรรดินิยม ศักดินานิยมและทุนนิยมผูกขาด และมุ่งมาตรที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติเพื่อทบทวนกระแสธารแห่งการพัฒนาระบบนายทุน

๕ พรรคคอมมิวนิสต์-มาร์กซิสต์แห่งประเทศอินเดีย (พ.ค.ม.อ.)

จัดการสถาปนาประชาธิปไตยของประชาชนขึ้นบนพื้นฐานของการรวมพลังที่แท้จริงที่ต่อต้านศักดินาและจักรวรรดินิยม และโดยการนำของชนชั้นกรรมาชีพ

ข.แนวดำเนินการ

๑. พรรคราตีย์ ชนะสังห์ (ช.ส.)

มนุษยสามัคคีธรรม:  ปัจเจกชนครองตำแหน่งสุดยอดในระบบของเรา ปัจเจกชนย่อมมีศักยภาพที่จะอยู่ร่วมกับปัจเจกชนคนอื่นหมู่มาก รวมทั้งคณะบุคคลทั้งหลายด้วย

๒ พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (พ.ค.ช.อ.)

ประชาชนมีอำนาจที่จะปฏิเสธฝ่ายปฏิกิริยาและฝ่ายเล่นพวกด้านขวาจัดที่หันเข้าหาวิธีรุนแรงเพื่อก่อกวน และพยายามทำลายพลังแห่งความก้าวหน้า แล้วอ่างว่าตัวเองเป็นพวกฝ่ายซ้าย


๓. พรรคสังคมนิยม (พ.ส.)

สังคมนิยมคือการยุติการปกครองของชนชั้น และการสถาปนาสังคมที่เสมอภาคและเสรี แต่ทว่าสังคมที่มีชนชั้นทุกแห่งในประวัติศาสตร์มักจะมีแนวโน้มกลายเป็นสังคมที่มีวรรณะ วรรณะคือ ชนชั้นที่แข็งตัวแล้ว ในอินเดียการพัฒนาด้านนี้เป็นไปอย่างกว้างไกล ระเบียบสังคมของอินเดียจึงแข็งกระด้างเป็นระบบวรรณะสูงต่ำ การดิ้นรน จะต้องเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อทำลายระบบวรรณะ เพื่อที่จะทำให้สังคมของเราเคลื่อนตัวแล้วเราก็จะได้รับความเสมอภาคในที่สุด

๔. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย (พ.ค.อ.)

เปิดทางพัฒนาให้แก่ประชาชนของเรา การพัฒนาหมายถึงการพัฒนาแบบที่ไม่ใช่ทุนนิยมในการพัฒนาแบบนี้ ชนชั้นที่จะสนใจกระทำการได้แก่ หนึ่ง ชนชั้นกรรมาชีพซึ่งเป็นชนชั้นที่สำคัญที่สุด สอง มวลชนชาวนาอันไพศาล รวมทั้งชาวนาผู้มีฐานะ ( นายทุนน้อย ) และแรงงานเกษตร สาม ปัญญาชนในนาครและชนบทซึ่งเติบโตขึ้นทุกวัน สี่ กฏุมภี ( หรือนายทุน ) ชาติแต่ไม่รวมพวกผูกขาด พวกที่สี่นี้สนใจที่จะหาทางสัมฤทธิ์ผลในงานหลักคืองานปฏิวัติเพื่อล้มล้างจักรวรรดินิยมและศักดินานิยม

๕. พรรคคอมมิวนิสต์-มาร์กซิสต์แห่งประเทศอินเดีย (พ.ค.ม.อ.)

จุดประสงค์ขั้นแรกกำหนดไว้อย่างแน่นอนว่า คือ การล้มล้างรัฐและรัฐบาลปัจจุบันของกฎุมภีเศรษฐีที่ดิน แล้วให้มีประชาธิปไตยและรัฐบาลของประชาชนซึ่งนำโดยชนชั้นกรรมาชีพบนพื้นฐานของการเป็นพันธมิตรอย่างแน่นแฟ้นระหว่างกรรมกรกับชาวนา

ค. การให้ความสำคัญก่อน-หลัง

๖. พรรคภราตีย์ ชนสังห์ (ช.ส.)

๑. จัดตั้งอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ  ๒. เพิ่มผลิตทางเกษตร และถือว่าชาวนาเป็น ผู้ที่เสี่ยงภัย ผู้ที่ลงทั้งทุนและแรงงานและเป็นผู้ทำงานทั้งปวง ๓. ขยายอุตสาหกรรมที่ต้องจ้างแรงงานมาก เพื่อผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจริง ๆ ๔. จัดตั้งสาธารณูปการและอุตสาหกรรมพื้นฐาน แต่จะไม่ให้รัฐเป็นเจ้าของและควบคุมปัจจัยการผลิตทั้งหมดเพราะรัฐจะควบคุมอำนาจทั้งเศรษฐกิจและการเมืองทุกอย่างไว้ในส่วนกลาง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะป้องกันการผูกขาดตัดตอน และการรวบอำนาจไว้กับส่วนกลาง การโอนกิจการทุกอย่างให้แก่รัฐไม่ช่วยให้ทุนเพิ่มขึ้น มันเป็นแต่เพียงการย้ายกรรมสิทธิ์และควบคุมเท่านั้น การที่ทุนภายในของเราไม่พอ เราอาจจะแก้ไขเป็นบางส่วนโดยอาศัยทุนต่างประเทศ

๗. พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย พรรครัฐบาล (พ.ค.ช.อ.)

ในประการแรก เราต้องขจัดความไร้สมรรถภาพทุกอย่างในระบบเศรษฐกิจของเราความไร้สมรรถภาพ เหล่านี้เป็นผลมาจากความเฉื่อยชาของส่วนสำคัญบางส่วนของระบบนั้นเอง ข้อที่สองเราจำต้องวางโครงสร้างการผลิตของเราโดยเน้นด้านเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจริงๆ รวมทั้งผลิตสินค้าที่เป็นการลงทุนเพื่อที่เราจะได้ขยายประมาณงานของประชากร และเตรียมป้องกันประเทศไปพร้อมๆกัน การปฏิรูปที่ดินเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำเราไปสู่ความมีสมรรถภาพในทางกสิกรรมและการเพิ่มพูนความเสมอภาคในท้องที่ชนบท การจำกัดปริมาณที่ดินควรกำหนดโดยหน่วยครอบครัว การทำงานของระบบเศรษฐกิจไม่ควรเป็นไปในทางที่จะทำให้เกิดการรวบความมั่นคงหรือการรวมทรัพย์ไว้ ณ ส่วนกลาง เพราะจะทำให้มหาชนต้องเสียหาย รัฐจะดำเนินการเฉพาะในกิจกรรมที่สำคัญต่อส่วนรวมเท่านั้น

๓. พรรคสังคมนิยม (พ.ส.)

หลายอำนาจ  การรวบอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้กับส่วนกลาง เป็นการยื้อแย่งอำนาจของมหาชน ต่อต้านการพัฒนาจอมปลอม คนเพียง ๗๕ ตระกูล เท่านั้นผูกขาดความร่ำรวยและคุมอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ คืนที่ดินให้แก่ผู้ไร้สมบัติ ที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์จะต้องนำมาให้ชาวนาที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองเพราะปลูกและจะให้โอกาสแก่ผู้เสียเปรียบก่อนคนอื่น เช่น ชาวฮาริจันและอัตราสี เป็นต้น ให้คนไร้งานมีงานทำ จะต้องเน้นในการสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากทั้งในชนบทและในเมือง เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบสังคมนิยมปัญหาเศรษฐกิจของเราจะไม่มีวันแก้ไขได้ ถ้าระบบเศรษฐกิจยังคงเป็นของรัฐโดยการยึดอย่างไม่ให้ค่าตอบแทน ความเสมอภาค เป็นค่านิยมที่ยิ่งใหญ่อยู่ตลอดเวลาของสังคมนิยม

๔. พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศอินเดีย (พ.ค.อ.)

ประการแรก และที่สำคัญที่สุด เราจะทำลายกงเล็บแห่งการผูกขาดของนายทุนต่างชาติที่กดดันเศรษฐกิจของเรา ประการสอง เราจะเพิ่มความแข็งแกร่งในทางอำนาจของรัฐเพื่อให้เป็นเอกราชจากการผูกขาดของนายทุนต่างชาติเพื่อให้กิจการต่าง ๆ ดำเนินไปตามทางประชาธิปไตยและโดยการพึ่งตัวเองทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ข้อที่สาม การผูกขาดของคนอินเดียด้วยกันเองที่ตลบเอาพลังทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ การค้าและการธนาคารเข้าไว้ในมือคนเพียงส่วนน้อยจะต้องถูกตีให้แตกหัก และเราป้องกันแนวโน้มใด ๆ ที่จะทำให้คนส่วนน้อยผูกขาดได้อีก ข้อที่สี่ อำนาจของเจ้าของที่ดินและเดนศักดินาจะถูกขจัดโดยสิ้นเชิง เราจะจัดการปฏิรูปทางเกษตรอย่างไม่รักษาของเก่าเพื่อให้ประโยชน์แก่ชาวนา เราจะล้มล้างกงเล็บของนายทุนการค้าธนาคารผู้เอารัดเอาเปรียบ

๕. พรรคคอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์แห่งประเทศอินเดีย (พ.ค.ม.อ.)

การปฏิวัติประชาธิปไตยของประชาชนซึ่งต่อต้านศักดินานิยม และจักรวรรดินิยม จำต้องถือเป็นหลักการว่าจะแก้ไขปัญหาที่ดินโดยเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ของชาวนา และเพื่อขจัดซากเดนของศักดินาและกึ่งศักดินา ที่ควบคุมพลังการผลิตด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของเราอยู่ เราจำต้องดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อปฏิรูปสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่แรงเฉื่อยทางวรรณะและแรงเฉื่อยอื่น ๆ บีบคั้นชาวบ้านให้จมปรักอยู่ในความด้อยพัฒนาชั่วกัปชั่วกัลป์ แรงเฉื่อยเหล่านี้เป็นเนื้อแท้ของระบบที่มีอยู่ก่อนจะเกิดทุนนิยม การดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้จะต้องเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการปฏิวัติประชาธิปไตย งานรีบด่วนขั้นที่สองของเราคือการขจัดและไล่นายทุนต่างประเทศที่บีบรัดเศรษฐกิจของเราอยู่ให้ออกไปให้สิ้นเมื่อเราทำสำเร็จ เราจะปลดปล่อยประชาชนของเราออกจากอิทธิพลทั้งหมดที่มีต่อชีวิตทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของเรา งานสองอย่างขั้นมูลฐานนี้ เราจำต้องปฏิวัติให้สำเร็จเพื่อประชาธิปไตย มาตรการอีกประการหนึ่งที่ต้องทำคือการถล่มอำนาจผูกขาดของนายทุนภายในประเทศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น