โดย: กัญจนา พูลผล
เช้าวันที่
๒๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ดิฉันยังจำได้ว่า เป็นเช้าวันที่เพื่อนทุกคนในคณะต่างพากันตกใจต่อข่าวการตายของอาจารย์บุญสนอง
บุณโยทยาน และดิฉันก็คิดด้วยว่า ไม่เพียงแต่ที่คณะนิเทศศาสตร์ของดิฉันเท่านั้น บรรดาผู้ที่เคยผ่านการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้และประชาชนที่ทราบเรื่องนี้ต่างก็เกิดความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจต่อการสูญเสียอาจารย์ที่ดีของลูกศิษย์
ลูกที่ดีของประชาชนไปเหมือนกัน
ดิฉันนึกถึง
เหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ที่ดิฉันมีโอกาสไปพบอาจารย์ที่บ้านเพื่อขอความคิดเห็นต่อสังคมที่เป็นอยู่นี้
ซึ่งไม่คิดเลยว่าการได้พบอาจารย์เป็นครั้งแรกครั้งนี้จะเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายของชีวิตนี้
มันเหมือนกับมีลางสังหรณ์อะไรมาก่อน
ทำให้อาจารย์กล่าวกับดิฉันเมื่อแรกที่พบหน้ากันว่า
จะให้สัมภาษณ์แก่ดิฉันเป็นกรณีพิเศษ เพราะอาจารย์จะไม่ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น
ๆ อีกแล้ว เนื่องจากหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งมักสัมภาษณ์อย่างแล้วไปเขียนอีกอย่าง
คำถามแรกที่ดิฉันถามอาจารย์ก็คือ
การที่รัฐบาลประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ ๔ เมษายน
มีเงื่อนไขทางการเมืองอย่างไรบ้าง
อาจารย์บุญสนองกล่าวว่า
“รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ อ้างว่า สภาประกอบด้วย ส.ส.
จากพรรคการเมืองต่าง ๆ มากเกินไป ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ มีอุปสรรคในการบริหารประเทศ
รัฐบาลจึงยุบสภาเสีย เพื่อให้ประชาชนตัดสินด้วยการเลือกตั้ง และหวังว่าในสภาจะมีพรรคการเมืองน้อยลง
ทำให้รัฐบาลมีความมั่นคงยิ่งขึ้น สามารถบริหารประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น”
“แต่ความเป็นจริงแล้ว สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัฐบาลหาทางออกโดยการยุบสภา
ก็คือการที่พรรคฝ่ายค้านหลายพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายสังคมนิยม ไม่สามารถให้ความสนับสนุนรัฐบาลได้
เพราะรัฐบาลคึกฤทธิ์-ประมาณ ดำเนินนโยบายและปฏิบัติงานผิดพลาด ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
เช่นในเรื่องการฆาตกรรมชาวปัตตานี การขึ้นราคาข้าวสารและความไม่สำเร็จในการประกันราคาข้าวเปลือก
ตลอดจนการผันเงินจำนวนมหาศาลไปสู่ชนบทอย่างไม่มีหลักการเพื่อแก้ปัญหาชาวนาที่แท้จริง
เมื่อพรรคฝ่ายค้าน
รวมตัวกันอย่างเพียงพอจนสามารถลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ทำให้รัฐบาลต้องลาออกตามรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลก็รีบชิงยุบสภาเสียโดย ไม่มีเหตุผลอย่างใดทั้งสิ้น เพราะรัฐบาลเพิ่งมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี
และสภาผู้แทนก็อยู่ในระหว่างการปิดสมัยการประชุม ไม่มี ส.ส.
คนไหนมีโอกาสสร้างปัญหาใดๆ แก่รัฐบาล”
“เมื่อพรรคฝ่ายค้านรวมกำลังกันจน กระทั่งล้มรัฐบาลได้
ก็ได้มีการตกลงกันที่จะตั้งรัฐบาลผสมขึ้นแทน โดยมีนโยบายสังคมนิยมเป็นหลัก และจะมีชาวสังคมนิยมหลายคนเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี
รัฐบาลและผู้ควบคุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองต่าง ๆ ก็พากันตื่นตระหนก
รีบปล่อยข่าวให้ประชาชนเกิดความเกรงกลัวว่า ถ้ารัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลสังคมนิยม
ประชาชนจะได้รับความเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้
ทั้ง
ๆ ที่ความจริงประชาชนส่วนใหญ่กลับจะได้รับผลประโยชน์ มีแต่ผู้มีอำนาจผูกขาดทั้งหลายเท่านั้นที่จะเสียหาย
การอ้างว่าการเลือกตั้งจะทำให้มีพรรคการเมืองน้อยลงนั้น
ก็เป็นเรื่องเหลวไหล ถ้ารัฐบาลต้องการอย่างนั้นจริง ทำไมไม่เคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพรรคการเมืองแต่อย่างใดเลย
เมื่อยุบสภาแล้วกลับจะพยายามออกพระราชกำหนดจำกัดจำนวนพรรคการเมืองทั้ง ๆ
ที่ผิดรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกประท้วงจึงเงียบไป”
“เหตุที่ผมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมันแพงเกินไป” อาจารย์บุญสนองกล่าว เมื่อดิฉันถามว่าทำไมถึงไม่ลงสมัครครั้งนี้ด้วย
“การเลือกตั้งครั้งนี้ผมคาดว่า
จะมีการทุ่มเงินและใช้อิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่าเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๑๘
เสียอีก ผู้เป็นรัฐบาลอยู่เวลานี้ไม่เต็มใจที่จะสละอำนาจของตน
ไม่เช่นนั้นก็คงยอมให้มีการอภิปรายทั่วไป เมื่อกลางเดือนมกราคม ๒๕๑๙ แล้ว
บางทีพรรคประชาธิปัตย์
กิจสังคม ชาติไทย ธรรมสังคมและอื่น ๆ
ของฝ่ายนายทุนทั้งหลายจะร่วมกันตั้งรัฐบาลที่มีความมั่นคงเด็ดขาด ทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปได้
หรือบางทีฝ่ายขวาอาจแบ่งเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเล่นละครกันต่อไป โดยมีพรรคสังคมนิยมเป็นพรรคช่างนิยมประดับสภาต่อไปก็เป็นได้
การเลือกตั้งในเมืองไทยนั้น
ก็คือการแข่งขันกันด้วยเงิน อำนาจ และเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงบิดเบือนประชาชนทั้งนั้น
พรรคที่ไม่มีทุนรอน และใช้แต่ความสุจริตเสนอนโยบายและความยืนหยัดต่อประชาชน
คงถูกกลั่นแกล้วถูกทำลายต่อไปอย่างไม่มีข้อสงสัย”
“ภายหลังการเลือกตั้ง ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลหลายพรรคอย่างเก่าอีก
ก็คาดว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคฝ่ายนายทุนอยู่ต่อไป
และถ้าบังเอิญฝ่ายสังคมนิยมเกิดเข้าสู่สมการทำให้มีอำนาจต่อรองในการตั้งรัฐบาลขึ้นอีก
ก็คงจะมีการยุบสภา หรือรวบอำนาจโดยวิธีอย่างเก่าอีก
แต่อย่างไรก็ตามผมคาดว่า
พรรคทางฝ่ายสังคมนิยมจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่าครั้งที่แล้ว”
อาจารย์บุญสนอง
ได้ระบุในเรื่องที่ว่าผู้มีอำนาจใช้เงินและอิทธิพลเล่ห์กลต่าง ๆ
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีการแจกเงิน จ้างบุคคลต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ใช้อันธพาลข่มขู่คู่ต่อสู้ และประชาชน ใช้กลไกที่เขาควบคุมอยู่เป็นเครื่องมือ
ใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมืออีกด้วย
“สำหรับในเรื่องการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งทางพรรคสังคมนิยม มักจะถูกกล่าวหาเสมอ
ไม่เป็นความจริงแต่อย่างไรที่พรรคสังคมนิยมจะไม่มีความรักในสถาบันทั้ง ๓ นี้
การรักชาติ
ก็คือการรักประชาชน ไม่กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนประชาชน การรักศาสนาก็คือการรักและยึดมั่นในศีลธรรมที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข
เสมอภาคและเป็นธรรม การรักพระมหากษัตริย์ก็คือรักพระราชาผู้ทรงธรรม
ไม่นำพระประมุขของประเทศผู้ทรงอยู่เหนือการเมืองมาแอบอ้างใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแต่ในทางใด
ๆ
ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม
มีความรักและเทิดทูนสถาบันทั้ง ๓ ในลักษณะนี้ เราจึงคัดค้านต่อต้าน เปิดโปง
และประณามผู้แอบอ้างแอบแฝงใช้ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมีอยู่ตลอดเวลา
เราเชื่อมั่นว่าประชาชนย่อมเฉลียวฉลาด
และตามมันเล่ห์การะเท่ห์ของนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจและประโยชน์ส่วนตัวอย่างแน่นอน
ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมเท่านั้น
จึงจะทำให้มีการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทั้งหลายของประชาชนที่ถูกเบียดบังผลได้จากการทำงาน
และถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นปกครองอย่างทุกวันนี้ เพราะสังคมนิยมขจัดการผูกขากของนายทุน
เอกชนภายในประเทศและของจักรวรรดินิยม
ระบบการปกครองที่ไม่มีการผูกขาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง
โดยอภิสิทธิ์ชนซึ่งได้แก่ประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนนั่นเอง ไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอมของชนชั้นนายทุน
และชนชั้นปกครองอย่างที่อ้างกันพร่ำเพรื่อ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง”
อาจารย์ได้ให้ความเห็นต่อการประกันราคาข้าวเปลือกของรัฐบาลว่า
มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
“ที่เห็นด้วย เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายนี้มาแล้ว และชาวไร่ชาวนาก็หวังจะได้ประโยชน์จากการขายข้าวราคาแพงขึ้น
เราก็ต้องพากันเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้เกวียนละ
๒,๕๐๐ บาท ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ทำและทำไม่ได้เพราะไม่มีเงิน
และที่ไม่เห็นด้วย
เพราะการประกันราคาข้าวเปลือกเป็นการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนที่ปลายเหตุเหลือเกิน
ที่จะต้องแก้กันอย่างจริงจัง คือการหาตลาดในต่างประเทศ การตัดพ่อค้าคนกลาง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับผูกขาดจากต่างประเทศ
ให้ชาวนาได้เงินค่าจ้างของเขาตามราคาตลาดจริงๆ และคิดว่าคงไม่มีรัฐบาลของนายทุนผูกขากพรรคไหนจะยอมทำ”
ดิฉันจำได้ว่า
คำถามสุดท้ายที่ดิฉันถามไปคือ ข่าวการรวมตัวกันระหว่างพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยกับพรรคแนวร่วมรัฐบาล
“เราจะยังไม่รวมกันแต่มีความปรารถนาตรงกันอยู่มาก และมีการร่วมมือกันบางประการอยู่แล้วเช่นที่จังหวัดขอนแก่นและชุมพร
ก็มีการส่งผู้สมัครร่วมกัน สำหรับพรรคสังคมนิยมฯ
เรามีท่าทีเต็มใจที่จะร่วมมือหรือรวมตัวกับพรรคที่มีนโยบายสอดคล้องกันอยู่ตลอดเวลา
เพราะเราถือว่าถ้ารวมกันได้ ก็จะเป็นไปตามความต้องการและประโยชน์ของประชาชน อุปสรรคในการรวมกันไม่ได้อยู่ที่พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย”
คำสัมภาษณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น
เป็นการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์บุญสนอง ที่ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า จุดยืนและแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของอาจารย์ยืนหยัดเคียงข้างอยู่กับประชาชนอย่างไรบ้าง
ย่อมเป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ทั้งการกระทำตลอดเวลาที่อาจารย์มีชีวิตอยู่ตราบถึงลมหายใจสุดท้าย
แต่ถึงอย่างไรดิฉันก็มั่นใจว่า
อุดมการณ์ของอาจารย์จะไม่ถูกประชาชนทอดทิ้งอย่างแน่นอน
คนที่มีความคิดเช่นเดียวกันนี้กำลังเดินทางตามหลังกันมาอีกเป็นขบวน
และเมื่อนั้นคงจะได้มีการพิสูจน์สัจธรรมนี้กัน
‘ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมเท่านั้น
จึงจะทำให้มีการแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชน’
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น