วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทความ: คิดถึงเมืองไทย


ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน
จากหนังสือ "คิดถึงเมืองไทย"  จัดพิมพ์โดย ประพันธ์สาส์น, 2513

พูดถึงความคิดถึงน่ะ ก็เห็นจะถูกอยู่หรอก เพราะคนทุกคนก็ย่อมมีความคิดถึงผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเป็นธรรมดา แต่คำว่า ธรรมดานี้จะมีความหมายกว้างแคบแค่ไหนนั่นสิน่าคิดกันอยู่ ตามสถิติของคนไทยที่ไปเรียนหนังสือในอเมริกา ซึ่งแต่ละปีมีกว่าสองพันคนขึ้นไปนั้น นัยว่ามีอยู่เพียง ๕ ถึง ๗ เปอร์เซ็นต์ที่แสดงความจำนงจะตั้งนิวาศสถานอยู่ในอเมริกาเป็นการถาวร แต่ในจำนวนนี้ก็ไม่เป็นที่ทราบแน่ว่ามีกี่คนที่ตกลงอยู่ในอเมริกาตลอดไป โดยแท้จริง (โดยการแปลงสัญชาติหรืออย่างอื่น) สมมติว่าสถิติอันนี้เป็นที่เชื่อถือได้ (ซึ่งผมคิดว่าคงได้) เราลองมาพิจารณาดูในเชิงเปรียบเทียบกับชาติอื่น ภาษาอื่น ที่ไปเรียนหนังสือในอเมริกากันดูซิ ผมได้ยินมาว่าปีหนึ่ง ๆ ที่เมืองจีนไต้หวันมีคนจบมหาวิทยาลัยราวหมื่นหนึ่งพันคน และแต่ละปีคนจบมหาวิทยาลัยไต้หวัน (กว่าครึ่ง) ในปัจจุบันนี้มีคนจีนไต้หวันที่ไปเรียนในอเมริกาแล้วยังคงอยู่ในอเมริกาเป็นจำนวนหลายหมื่นคน นัยว่าถึง เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนไต้หวันไม่กลับบ้านหรือแสดงความจำนงที่จะไม่กลับบ้าน นอกจากไต้หวันแล้วยังมีประเทศอื่น ๆ อีกมากหลายเช่น อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และแม้แต่อังกฤษและออสเตรเลีย ซึ่งมีนักเรียนอยู่ในอเมริกานับเป็นตัวเลขมหาศาล แต่เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนกลับบ้านต่ำมากเมื่อเทียบกับนักเรียนไทย

คุณคิดว่าคนชาติอื่น ภาษาอื่น ที่ไปเรียนอเมริกามีความคิดผูกพันกับบ้านเขาเมืองเขาน้อยกว่าคนไทยหรือ ? เขาจึงพากันไปตั้งรกรากอยู่เมืองอเมริกาหมด เอ, ผมว่าอาจจะไม่จริงนา มีใครบ้างที่จะไม่คิดถึงบ้านเกิดเมืองมารดร และปริมาณความคิดถึงความผูกพันนั้นวัดกันด้วยอะไร และวัดได้หรือ ผมว่าน่าจะมีสาเหตุอย่างอื่นมากกว่า ที่ทำให้คนไปเรียนอเมริกาแล้วไม่อยากกลับบ้านหรือไม่ยอมกลับบ้าน ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้นนับว่ามีอยู่สองสาเหตุ สาเหตุหนึ่งคือเศรษฐกิจการครองชีพ อีกสาเหตุหนึ่งคือสังคมซึ่งรวมถึงเรื่องทางการเมืองและปัญญาการโดยทั่วไปด้วย สาเหตุทางเศรษฐกิจนั้นเห็นได้ง่าย คนที่ไปจากความยากจนเมื่อไปพบความร่ำรวยหรือโอกาสที่ดีกว่า ก็อาจจะถูกดึงดูดทรัพย์ศฤงคารความมั่นคงแล้วไม่อยากกลับไปสู่ฐานะเก่า ส่วนสาเหตุทางสังคมนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน ว่ากันว่าคนที่ไปอยู่อเมริกาที่ไม่อยากกลับประเทศของตัวที่เป็นเพราะความเกลียดชังสถานการณ์ทางการเมืองการขาดเสรีภาพ ขาดโอกาสในการปกครองประเทศ (หรือปกครองตัวเอง) ขาดสิทธิที่จะแสดงออกทางปัญญาการและทนความเหลื่อมล้ำทางชั้นวรรณะทางอาชีพ ความอยุติธรรมหรือการเอารัดเอาเปรียบในสังคมไม่ได้นั้นก็มีมาก

จะอย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราไม่อาจคุยกันได้ในจดหมายฉบับเดียว และผมก็ไม่มีเจตนาจะเขียนถึงคุณเพื่อพูดเรื่องงานวิจัยหรือเรื่องทางวิชาการที่คุณอาจไม่สนใจทำให้คุณหมั่นไส้หรือรำคาญเอาได้ด้วย ที่ยกขึ้นมาชวนคุยก็เพราะเห็นเป็นเรื่องน่าคุย แม้แต่จะคุยกันผิวเผินก็อาจชวนให้คิดได้ ก็ถ้าสาเหตุหนึ่งที่คนไปเรียนอเมริกาแล้วไม่ยอมกลับบ้าน เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจแล้ว นักเรียนไทยส่วนมากกลับ (หรือกลับมากกว่าคนภาษาอื่นหลายภาษา) คุณจะว่าเป็นเพราะเมืองไทยเราร่ำรวยกว่าเมืองเขาหรืออย่างไร หรือเป็นเพราะคนไทยที่ไปเรียนอเมริกาส่วนใหญ่เป็นคนร่ำรวยอยู่แล้ว ข้อนี้ก็อาจไม่จริงอีก คนไทยจน ๆ ที่ผมรู้จัก (เช่นตัวผมเอง) ที่โผล่ไปเรียนเมืองนอกก็มีหน้านี่ แล้วเมืองไทยเรา (หรือคุณว่าไม่จริง) ผมก็เห็นว่าไม่ร่ำรวยไปกว่าเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย หรือจะเป็นไปได้ว่าคนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกนั้น ส่วนใหญ่มีอยู่เพียงสองลักษณะคือได้ทุนไปกับพ่อส่งไป แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่มีเหตุทางเศรษฐกิจบังคับให้อยู่ในอเมริกาแต่ถูกบังคับให้กลับเมืองไทย (ตามสัญญาที่ทำไว้กับเจ้าของทุนหรือนายจ้างเช่นราชการ) เมื่อกลับเมืองไทยแล้วจึงมีงานทำไม่ (ถึงกับ) อดตายหรือมิฉะนั้นก็กลับมาใช้เงินพ่อต่อไป ผมเองเคยพบคนอินเดีย คนปากีสถานคนจีน และอื่น ๆ ที่ไปอเมริกาทางเรือกันมากมาย แต่แทบจะไม่เคยได้ข่าวว่ามีคนไทยคนไหนไปอเมริกาโดยทางทะเลเลย (ถึงแม้จะเคยได้ยินว่าไปทางจักรยานรายสองราย) อาจเป็นเพราะคนไทยส่วนมากที่ไปเรียนหนังสืออเมริกาไปด้วยสองลักษณะดังกล่าวนี้มากกว่าที่จะไปโดยวิธีช่วยตัวเองคือไปหางานทำไปด้วยและเรียนไปด้วยอย่างคนชาติอื่น ๆ จำนวนมากกระมัง สาเหตุทางเศรษฐกิจการครองชีพจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้คนไทยอยากอยู่อเมริกา (หรืออยู่ตลอดไป)

แล้วสาเหตุทางสังคมทางการเมืองและทางปัญญาการล่ะ เป็นไปได้ไหมว่าคนไทยที่ไปเรียนอเมริกาส่วนใหญ่ (ซึ่งกลับบ้าน) เขาไม่มีปัญหาทางนี้ เมื่อเขากลับมาถึงเมืองไทย เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จึงกลับแทนที่จะหนีสถานการณ์ หรือบรรยากาศทางการเมืองที่ทำให้คนเกลียดชัง ไม่มีการขาดสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความอยุติธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางชั้นวรรณะ ทางอาชีพ ไม่มีการบีบบีบคั้นทางการแสดงออกทางปัญญาการและอื่น ๆ เหล่านี้ใช่ไหม ผมจะไม่ขออธิบายหรอกว่า ที่ผมพูดหมายความว่าอย่างไร เพราะเรื่องนี้คุณและผมเองหรือคนอื่น ๆ ก็ตามอาจมีความคิดเห็นมีข้อสังเกตและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปได้ แต่ผมอยากออกความเห็นสักหน่อยว่าไม่ว่าในเมืองไทยเราสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีอยู่อย่างไร มันเป็นไปได้ใช่ไหมว่าคนไทยที่ไปเรียนหนังสือในอเมริกาส่วนใหญ่ซึ่งกลับบ้านนั้น เขาไม่ได้รู้สึกหรือเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคหรือเป็นปัญหาของเขา เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ ทางสังคมทางการเมือง และทางปัญญาการดังที่ว่ามานี้จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้นักเรียนไทยหนีสังคมไทยแล้วคงอยู่ที่อเมริกาต่อไป ไม่กลับบ้านถ้าการคาดคะเนของผมถูกต้อง คุณจะเข้าใจว่าอะไรทำให้นักเรียนไทยในอเมริกาส่วนใหญ่ที่กลับบ้านมีความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้น คุณว่าเป็นไปได้ไหมว่า ฐานะทางอาชีพการงานของคนไทยส่วนใหญ่ที่ไปเรียนในอเมริกาแล้วกลับบ้าน รวมทั้งฐานะทางสังคมของเขาทำให้เขาไม่มีปัญหาเหล่านี้หรือไม่มีความรู้สึกแบบนี้

เอาละ ผมขอจบจดหมายผมถึงคุณด้วยวิธีมอบคำถามข้างบนนี้ให้คุณลองคิดดูมากกว่าที่จะขออาสาตอบเสียเอง แต่ก่อนจะจบผมอยากเล่าให้คุณฟังอีกสักหน่อยว่า นอกจากคนไทยที่ไปอเมริกาเพื่อเรียนหนังสือแล้ว ก็ยังมีไปเพื่อประกอบอาชีพ และตั้งรกรากอยู่ในอเมริกาเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน คนไทยที่ไปอเมริกาแล้วไม่กลับเมืองไทยหรือไม่คิดกลับเมืองไทยนั้น จำนวนมาก็คงทำเช่นนั้นเพราะความจูงใจทางเศรษฐกิจและการครองชีพ แต่คุณว่ามีบ้างไหมและมีมากน้อยแค่ไหนที่สาเหตุจูงใจของคนไทยดังกล่าวนี้เป็นเรื่องทางสังคม ทางการเมือง ทางปัญญาการมากกว่าหรือพอ ๆ กับเรื่องทางเศรษฐกิจและคุณว่าคนที่ไปอยู่อเมริกาแบบไปอยู่เลยนี้ (ไม่ใช่เพียงไปเรียนหนังสือชั่วคราว) เขาคิดถึงเมืองไทยน้อยกว่าคนที่กลับเมืองไทยหรืออย่างไร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น