วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทความ: การเคลื่อนไหวทางสังคมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ


ธีระเวทย์ ประมวญรัฐ ถอดความจาก Social Mobility and Economic Development ของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ที่ตีพิมพ์ก่อนจบปริญญาเอก ใน Sociological Bulletin, March 1967)  เผยแพร่เป็นภาษาไทยใน Thai Journal of Development administration (ปีที่ 7 ฉบับที่ 3), NIDA. 2510 

นอกจากญี่ปุ่น ประเทศเอเซียอีกประเทศหนึ่งซึ่งดูจะประสบผลอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจได้แก่จีนคอมมิวนิสต์  ข้อสังเกตนี้นับว่าถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรากล่าวถึงวลี “การพัฒนาเศรษฐกิจ” ว่าหมายถึงการะบวนการที่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจซึ่งไม่มีลักษณะเป็นระบบอุตสาหกรรมไปเป็นระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปัจจุบันนี้ในเมื่อญี่ปุ่นได้ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ (กล่าวคือ อุตสาหกรรม) ลุล่วงไปแล้ว จีนคอมมิวนิสต์ยังจัดว่ากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการตามกระบวนการนี้อยู่อย่างมาก แม้จะถือได้ว่าทั้งญี่ปุ่นและจีนคอมมิวนิสต์ต่างก็ตั้งเป้าหมายขั้นสุดท้ายของตนไว้ที่การเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของตนให้เป็นระบบอุตสาหกรรม ก็เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าวิถีทางที่ทั้งสองประเทศเลือกเพื่อก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุสาหกรรม (และพัฒนาเศรษฐกิจ) นั้นมีความแตกต่างกันอยู่มากผลของความแตกต่างในวิถีทางพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศนี้ทำให้ผลลัพธ์ทางสังคมวิทยาของทั้งสองประเทศแตกต่างกันในขั้นมูลฐาน ญี่ปุ่นเป็นสังคมทุนนิยมสมัยใหม่อุปมาได้กับประเทศอุตสาหกรรมทางโลกตะวันตก ญี่ปุ่นแตกต่างจากจีนคอมมิวนิสต์ในด้านประเภทขององค์การทางสังคมและเศรษฐกิจ ความแตกต่างดังกล่าวนี้เป็นความแตกต่างในด้าน “ชนิด” (kind) และไม่ใช่แต่เพียงแตกต่างกันใน “ระดับ” (degree) ของการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น

การที่ญี่ปุ่นและจีนคอมมิวนิสต์มีวิธีดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจตามครรลองที่ต่างกันและในที่สุดทั้งสองประเทศได้ผลิตสังคมที่มีลักษณะแตกต่างกันนั้นนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมวิทยาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเองโดยบังเอิญ หากแต่เป็นที่แน่นอนว่ามีสภาวการณ์ทางสังคมวิทยาที่สำคัญหลายประการส่งเสริมให้เกิดมีความแตกต่างเช่นนี้ขึ้น ในบรรดาปัจจัยหลายประการที่ช่วยกำหนดให้มีความแตกต่างระหว่างสภาวการณ์ของสังคมญี่ปุ่นกับสังคมจีนอันเป็นผลทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในทั้งสองประเทศมีลักษณะแตกต่างกันนั้น มีรวมถึงความแตกต่างดั้งเดิมของ ประเภท ของการเคลื่อนไหวทางสังคม (types of social mobility) ในประเทศทั้งสองนี้ด้วย

มีการค้นพบว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมมีบทบาทสำคัญอย่างมหาศาลต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจในสังคมที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ยิ่งกว่านั้นยังเป็นที่ทราบกันด้วยว่าทั้ง ๆ ที่การเคลื่อนไหวทางสังคมบางแบบเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่การเคลื่อนไหวทางสังคมอีกบางแบบกลับเป็นขวากหนามต่อการพัฒนาอย่างมาก ในบทความนี้เราจะพิจารณาถึงแบบหรือประเภทของการเคลื่อนไหวทางสังคมขั้นมูลฐานสองประเภท คือ การเคลื่อนไหวของเอกชน (individual mobility) ประเภทหนึ่งกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม (group mobility) อีกประเภทหนึ่ง และเราจะพยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวทางสังคมสองประเภทนี้ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสองประเภทซึ่งได้แก่ () ประเภทที่นำไปสู่หรือเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับทุนนิยมสมัยใหม่ และ () ประเภทที่เกิดขึ้นโดยเอกเทศจากวิถีของทุนนิยมสมัยใหม่ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบคำอธิบาย ผู้เขียนจะเสนอบทบาทของ การเคลื่อนไหวของเอกชน ที่มีต่อการพัฒนาในสังคมจีนและบทบาทของ การเคลื่อนไหวของกลุ่ม ที่มีต่อการพัฒนาในสังคมญี่ปุ่น การแสดงหลักฐานดังกล่าวนี้จะกระทำโดยใช้งานของศาสตราจารย์แมนเจค็อปส์ (Norman Jacobs) เป็นบันทัดฐาน ในตอนสุดท้ายโดยนัยและขอบข่ายของทฤษฏีนี้ ผู้เขียนจะเสนอกรณีของการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทย เพื่อเป็นพะยานหลักฐานเพิ่มเติมประกอบคำอธิบายของผู้เขียนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

แนวความคิดในเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการแปรรูปหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคม นักสังคมวิทยามักจะทราบกันดีว่าไม่มีสังคมใดจะคงสภาพนี่งอยู่กับที่ แต่กระนั้นพวกเขาก็หาพอใจในความรู้แต่เพียงเล็กน้อยแค่นั้นไม่ ถ้าตรวจสอบผลงานการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมดูเพียงผิวเผินก็จะพบได้โดยไม่ยากนักว่าความสนใจในด้านนี้มีอยู่อย่างกว้างขวาง เช่น จะเห็นได้ว่ามีการศึกษาถึงประเภทของการเปลี่ยนแปลง ทิศทางของการเปลี่ยนแปลง แหล่งหรือต้นตอของการเปลี่ยนแปลง และอื่น ๆ เป็นต้น ในการที่เราพยายามจะทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการสมควรถ้าเราจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจความหมายของแนวคิด (concepts) ที่สำคัญ ๆ ซึ่งจะนำมาใช้กันเสียก่อน

ดังได้กล่าวแล้ว เราสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นในสองลักษณะหรือสองแบบ ซึ่งมีความแตกต่างกันในระดับมูลฐาน กล่าวคือ แบบหนึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่นำไปสู่การก่อรูปของทุนนิยมสมัยใหม่ (modern capitalism) หรือมิฉะนั้นก็เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการก่อรูปของทุนนิยมสมัยใหม่ ส่วนอีกแบบหนึ่งคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้ก่อให้เกิดขึ้นหรือติดตามการก่อรูปของทุนนิยมสมัยใหม่ พิจารณาในมุมกว้างเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใดแบบหนึ่งในสองแบบนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น อย่างไรก็ดี ในทำนองเดียวกันกับปรากฏการณ์ของการพัฒนาเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในขณะเดียวกันกับหรือติดตามการพัฒนาการพัฒนาเศรษฐกิจก็มีลักษณะหรือแบบที่แตกต่างกันอย่างสำคัญอยู่สองแบบเช่นเดียวกัน เราอาจเรียกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบแรกว่า “การเปลี่ยนแปลงในคุณภาพ)  (qualitative change) และเรียกแบบที่สองว่า “การเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ” (quantitative change) แบบแรกอธิบายได้ง่าย ๆ ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงใน “ชนิด” (kind) ส่วนแบบหลัง อาจกล่าวสั้น ๆ ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงใน “ระดับ” (degree)

การเปลี่ยนแปลงแบบ “คุณภาพ” หรือเปลี่ยนในด้านชนิดอธิบายได้ว่าหมายถึงการโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมจากชนิดหรือประเภทหนึ่งไปเป็นอีกประเภทหนึ่งตามความหมายนี้เราจะกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบ “คุณภาพ” ขึ้นก็ต่อเมื่อโครงสร้างสังคมโครงสร้างหนึ่งได้ปลาสนาการไปแล้วและโครงสร้างใหม่ได้เกิดขึ้นมาแทนที่ และจะกล่าวได้ก็แต่เฉพาะในความหมายนี้เท่านั้น จะเห็นได้จากกรณีของการพัฒนาเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประเภทนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ในที่นี้เราหมายถึง โครงสร้างของระบบการจัดลำดับสังคมของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนไป เพราะเหตุนี้ระบบการจัดลำดับสังคม (social stratification system) แบบอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจึงแตกต่างจากระบบการจัดลำดับสังคมของญี่ปุ่นก่อนสมัยอุตสาหกรรม

ในทางตรงกันข้าม “การเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ” (quantitative change) มีความหมายแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงในระดับ ซึ่งโดยนัยนี้คือ ขนาดหรือปริมาณนั่นเองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประเภทนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในระบบสังคมทุกระบบอยู่ตลอดเวลาหากแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงมิได้ทำให้เกิดการสับเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมซึ่งมีอยู่แต่เดิมโดยเกิดมีโครงสร้างใหม่ขึ้นแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบปริมาณ”  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างของสังคมและมิใช่เป็นการเปลี่ยนตัวโครงสร้างเอง การเปลี่ยนแปลงซึ่งมีขึ้นภายในระบบการจัดลำดับสังคมของจีนและไทยซึ่งจะเสนอไปในบทความนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประเภทปริมาณ

การเปลี่ยนแปลงทั้งในแบบ “ปริมาณ” และ “คุณภาพ” มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวขั้นมูลฐานทางสังคมสองประเภทดังกล่าวแล้ว คือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มกับการเคลื่อนไหวของเอกชน การเคลื่อนไหวของกลุ่มตามที่เราเข้าใจหมายถึงการเคลื่อนย้ายหรือการเปลี่ยนตำแหน่งของกลุ่มสังคมในระบบการจัดลำดับสังคม ซึ่งมีผทำให้โครงสร้างของระบบนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสมบูรณ์ ตรงกันข้ามการเคลื่อนไหวของเอกชนแสดงถึงการเคลื่อนย้ายหรือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของเอกชนภายในระบบการจัดลำดับสังคม ซึ่งมิได้ยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบนั้นในทางใด (ตามความหมายของเรา ครอบครัวและชาติวรรณะ (caste) แต่ละรายถือว่าเป็น “เอกชน” และไม่ใช่ “กลุ่มสังคม” ) เมื่อตำแหน่งทางสังคม (และสถานภาพที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับตำแหน่งนั้น) ของกลุ่มสังคมหรือเอกชนเปลี่ยนไปในทางที่สูงขึ้นหรือต่ำลงในระบบสูงต่ำของสถานภาพ เรากล่าวว่ามี “การเคลื่อนไหวตามแนวตั้ง” (vertical mobility) การเคลื่อนไหวตามแนวตั้งที่ทำให้สถานภาพสูงขึ้นเรียกว่า “การเคลื่อนไหวตามทางขึ้น” (upward mobility) และ “การเคลื่อนไหวตามทางลง” (downward mobility) ในอีกทางหนึ่งเมื่อตำแหน่งทางสังคม (และสถานภาพที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับตำแหน่งนั้น) ของกลุ่มสังคมหรือเอกชนเปลี่ยนแปลงไปบนพื้นที่ราบ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงที่มิได้ทำให้กลุ่มหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องสูงขึ้นหรือต่ำลงบนบันไดของสถานภาพ เรากล่าวว่ามี  “การเคลื่อนไหวตามแนวนอน” (horizontal mobility) เกิดขึ้น ในทรรศนะของเราการเคลื่อนไหวทั้งตามแนวตั้งและแนวนอนอาจจะเกิดขึ้นได้กับกลุ่มสังคมเช่นเดียวกับเอกชน

แนวความคิดในเรื่อง “กลุ่มสังคม” ซึ่งเราอภิปรายในเชิงของการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น มีความหมายไม่เฉพาะแต่กลุ่มครอบครัวซึ่งอาจจะเลื่อนขึ้นหรือเลื่อนลงบนบันไดแห่งสถานภาพโดยไม่มีผลทำให้โครงสร้างของสังคมเปลี่ยนแปลงไปเลยเท่านั้น แต่กลุ่มสังคมมีความหมายกว้างกว่าครอบครัวของเอกชนในสังคมมากนัก ทั้งนี้ไม่ว่าจำนวนสมาชิกในครอบครัวจะมีอยู่มากมายเท่าใดก็ตาม กลุ่มสังคมจะต้องเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งแสดงออกถึงการตระหนักในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือสถานการณ์ร่วมกันของหมู่ชนและเป็นหมู่ชนที่มีความผูกพันต่อกัน ตามหลักเหตุผล ตัวอย่างของการตระหนักร่วมกันที่ควรแก่การอ้างถึงในที่นี้ได้แก่ปรากฏการณ์ของ ซามูไร ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมที่ก่อตั้งขึ้นมาจากหมู่ชาวนา (peasant) โดยได้รับสถานภาพร่วมและตำแหน่งทางสังคมเป็นกลุ่มต่างหากจากกลุ่มอื่นในสมัยการดิ้นรนระหว่างขุนศึกไทรากับขุนศึกโยริโตโม (.. 1160—1192) ผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านสถานภาพและตำแหน่งทางสังคมของกลุ่มนี้ (จากชนชั้นชาวนาขึ้นไปเป็นชนชั้นซามูไร) ทำให้โครงสร้างของสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่แต่เดิม นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างทำนองเดียวกันนี้อีกในตอนปลายสมัยโตกูกาวา (.. 1644—1911) เมื่อ ไตเมียว (ขุนศึกเจ้าของที่ดิน) และสมุนซามูไรของเขา (ซึ่งต่างก็มีสถานภาพเป็นกลุ่มสังคมโดยเอกเทศเพราะมีการตระหนักถึงกลุ่มของตัวซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ) ต่างก็สละสถานภาพเดิมของตนแล้วรวมตัวเข้ากับคนอาชีพค้าขายและอาชีพราชการ ซึ่งเป็นอาชีพใหม่และร่วมก่อตั้งชนชั้นใหม่ขึ้นในสังคมญี่ปุ่น คือ ชนชั้นพ่อค้า- อุตสาหกร กับชนชั้นข้าราชการการเคลื่อนไหวทางสังคมลักษณะนี้ก็ทำให้โครงสร้างของญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปอีกวาระหนึ่ง

การเคลื่อนไหวของเอกชน ไม่ว่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมากเพียงใดก็ตามจะไม่อาจทำให้โครงสร้างของระบบสังคมเปลี่ยน แม้ว่าการเคลื่อนไหวประเภทนี้อาจจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายภายในกรอบของโครงสร้างก็ตาม ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนไหวทางสังคมของเอกชนจึงนำมาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านปริมาณ (quantitative change) และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพ (qualitative change) ได้ แต่ในทางกลับกัน โดยที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มเป็นการให้โครงสร้างของสังคมเปลี่ยน ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จึงจัดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพ

เพื่อที่จะย้ำถึงความหมายของแนวคิดเกี่ยวกับ “การเคลื่อนไหวของกลุ่ม” เราจำเป็นต้องกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวประเภทนี้จะเรียกว่าเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเปลี่ยนหรือย้ายตำแหน่งของกลุ่มสังคมมีผลกระทบโครงสร้างของสังคมถึงขั้นที่ทำให้โครงสร้างมีการไหวตัวและปรับตัวเอวเสียใหม่โดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น โดยนัยดังกล่าว เราจึงไม่อาจถือได้ว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นที่ปรากฏอยู่ในระบบชาติวรรณะ (caste system) ของอินเดีย เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ถึงแม้จะมีความจริงอยู่ว่ากลุ่มชาติวรรณะเลื่อนตำแหน่งของตัวเองขึ้นลงอยู่เสมอบนมาตรของการแบ่งทางสังคมตามพิธีกรรม หากแต่ว่าการเลื่อนดังกล่าวนี้กลับเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้โครงสร้างที่มีอยู่แล้วคงอยู่ต่อไปและมีความมั่นคงยิ่งขึ้น และหาได้ทำหน้าที่ในด้านเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแต่ประการใดไม่ เนื่องจากนิยามของเราเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มมีอยู่ดังอธิบายไว้นี้ เราจึงจำต้องมีทรรศนะที่แตกต่างไปจากทรรศนะของศาสตราจารย์ศรีวิวัส

ถึงตอนนี้นับว่าเราได้ให้อรรถาธิบายถึงความหมายของแนวคิดและเป้าหมายของเราไว้เพียงพอแล้ว ต่อไปเราจะเสนอลักษณะของการเคลื่อนไหวของกลุ่มในสังคมญี่ปุ่นและลักษณะของการเคลื่อนไหวของเอกชนในสังคมจีนเราจะแสดงตัวอย่างประกอบโดยถือการวิเคราะห์ของศาสนาอาจารย์นอร์แมน เจค็อปส์ เป็นบันทัดฐาน หลังจากนั้นเราจะค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวทั้งสองประเภทนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจอันแตกต่างกันตามแบบของญี่ปุ่นและจีน

งานวิเคราะห์การจัดลำดับสังคมหรือการแบ่งทางสังคมของเจค็อปส์ มีวิธีการเช่นเดียวกับวิธีของแม็กซ์ เวเบอร์ คือในขณะที่ เจค็อปส์ ชี้ให้เห็นว่า “การศึกษาการจัดลำดับทางสังคมต้องกระทำโดยวิธีอภิปรายเกี่ยวกับชนชั้น” และอธิบายต่อไปว่า “ชนชั้น ประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบทางสังคมที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”  เขาก็เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องแยกชนชั้นออกต่างหากจาสถานภาพ (คำว่า “สถานภาพ” เขาอธิบายว่าหมายถึงสถานภาพ “ร่วม.....corporate system) เจค็อปส์ให้คำจำกัดความของ “กลุ่มชนที่มีสถานภาพร่วม” ว่าหมายถึงกลุ่มสังคมใด ๆ ที่ “โดยอิสระจากการควบคุมของภายนอกได้ กำหนดสิทธิและเสรีภาพในทางปฏิบัติให้แก่ตัวเอง และจัดระเบียบหรือวางวินัยและองค์ประกอบของสมาชิกในกลุ่มของตัว และบุคคลอื่นหรือกลุ่มอื่นยอมรับสิทธิทั้งหลายดังกล่าวนี้ว่าเป็นสิทธิพิเศษที่มีอยู่โดยชอบธรรม

อนุสนธิจากคำอธิบายของ ศาตราจารย์เจค็อปส์ ระบบการจัดลำดับสังคมของญี่ปุ่นกับจีนเป็นระบบที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดและแตกต่างกันตลอดมา ในจีนการวัดความสูงต่ำหรือการแบ่งกันทางสังคมขึ้นอยู่กับการสันนิษฐาน เป็นการล่วงหน้า ว่าบทบาททางสังคมบางบทบาทเป็นบทบาทที่ มีเกียรติ และบทบาทอื่น ไม่มีเกียรติ ผู้ที่จะดำเนินบทบาทที่มีเกียรติในสังคมได้จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติหรือคุณธรรมที่จะเป็นผู้นำ แต่บทบาทที่ไม่มีเกียรติเป็นบทบาทของผู้ไม่มีคุณสมบัติในการนำ และจำต้องตาม ทั้งนี้เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งความสามัคคีในสังคม ผู้มีคุณสมบัติในการนำได้แก่ปัญญาชนซึ่งเป็นผู้มีค่าในสังคมและถือกันว่าอยู่ในตำแหน่งเหนือกว่าในทางศีลธรรม (และสังคม) ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติในการนำได้แก่ผู้ที่ขาดความเป็นปัญญาชนและขาดคุณค่า และถือกันว่าอยู่ในตำแหน่งที่ด้อยกว่าในทางศีลธรรมจึงได้รับการคาดหมายจากสังคมให้เป็นผู้ตาม

พิจารณาจากแง่ของการวิเคราะห์การรวมกันเข้าเป็นชนชั้น ลักษณะสำคัญของระบบการจัดลำดับสังคมจีนอยู่ที่ ชนชั้นร่วม (corporate classes) สองชนชั้นมีความแตกต่างกันในขั้นมูลฐาน ชนชั้นร่วมสองชั้นนี้เป็นรากเง่าของระบบอำนาจและกลไกทางการเมืองของจีนตลอดมาในประวัติศาสตร์ ในจีนเก่าชนชั้นร่วมสองชั้นนี้ประกอบขึ้นด้วยส่วนสำคัญสองส่วน คือ ปราชญ์ตามทางประเพณี  (literati) และชาวนา ปราชญ์ คือ ผู้รู้ในลัทธิขงจื้อซึ่งเป็นผู้รู้วิถีของสังคม ปราชญ์ผูกขาดอาชีพมูลฐาน คือการเป็นผู้นำและครอบครอง
ตำแหน่งสุดยอดในสังคมอยู่โดยวิถีที่ชอบธรรม ที่อยู่เบื้องล่างของปราชญ์ตามระบบสถานภาพก็ได้แก่คนธรรมดาหรือสามัญชน ซึ่งดำเนินอาชีพที่ไม่ได้เปรียบแต่อาชีพมูลฐานอีกอาชีพหนึ่ง คือ อาชีพเกษตรกรรม ผลประโยชน์ทางอาชีพขั้นมูลฐานทั้งสองนี้เป็นที่ตั้งของชนชั้นร่วมที่แตกต่างกัน และแต่ละชนชั้นก็มีผลประโยชน์ประเภทอื่นรวมผนวกเข้ามาด้วย เช่น เจ้าของที่ดินและช่างฝีมือ เป็นต้น เจ้าของที่ดินมีสถานภาพเทียบได้กับสถานภาพของพวกปราชญ์ในแง่ของบทบาท (role) คนเหล่านี้เป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค อันได้แก่ขุนนางนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน ช่างและพ่อค้าก็มีสถานภาพผนวกเข้าได้กับชาวนา ในฐานะที่เป็นชนชั้นร่วมพวกปราชญ์และพวกที่มีผลประโยชน์อย่างอื่นแต่ผนวกเข้าได้กับปราชญ์เป็น “กลุ่มอภิชน” มีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงจากชนชั้นร่วมของพวกชาวนา ศาสตราจารย์เจค็อปส์อธิบายการจัดลำดับสังคมของจีนซึ่งประกอบขึ้นด้วยคนสองชั้นร่วมกันนี้อย่างแจ่มแจ้ง โดยกล่าวว่า

 . . . .  ระบบสังคมนี้จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในเมื่อบทบาทของชนชั้นร่วมที่อยู่ในตำแหน่งได้เปรียบเป็นบทบาทที่ดำเนินโดยบุคคลคนเดียวกันที่มีผลประโยชน์หลายอย่าง (ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ข้าราชการส่วนภูมิภาคเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นผู้ให้กู้เงิน เป็นตำรวจ และเป็นผู้ประกอบกิจการในการลงทุนและอื่น ๆ ไปด้วยในตัว) และเมื่อบทบาทของชนชั้นร่วมที่อยู่ตำแหน่งที่ไม่ได้เปรียบเป็นบทบาทของเกษตรกรรม (หรือแม้จะเป็นผู้มิได้มีผลประโยชน์ในอาชีพมูลฐานนี้แต่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องและมีความปรารถนาที่จะกลับไปสู่ผืนดิน) แต่ระบบนี้ก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพพอเพียงโดยวิธีการผนวกหรือเทียบสถานภาพของอาชีพต่าง ๆ เข้ากับชนชั้นใดชั้นหนึ่งในสองชนชั้นที่มีอยู่ตามทางประเพณีนี้. . . กล่าวคือชนชั้นที่ได้เปรียบและมีหน้าที่ปกป้องและได้สิทธิครอบครองตำแหน่งสูงสุดในระบบสถานภาพฝ่ายหนึ่งกับชนชั้นที่ครองฐานขอระบบ และต้องทนต่อการเสียเปรียบในสังคมอีกฝ่ายหนึ่ง

ในระยะเริ่มต้นของศตวรรษนี้ เมื่อพรรคจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) เข้ายึดอำนาจปกครองจากพวกเจ้า พรรคจีนคณะชาติได้ลบล้างสถาบันตามประเพณีเดิมหลายอย่างรวมทั้งการสอบไล่เพื่อบรรจุนักปราชญ์เข้ารับราชการตามประเพณีเดิมซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ถ้ามองอย่างผิวเผินสถานการณ์ดังกล่าวนี้อาจทำให้เข้าใจไปว่า ระบบการจัดลำดับสังคมของจีนตามแบบเดิมได้ถูกล้มล้างไปแล้ว แต่โดยแท้จริงแล้วระบบสองชนชั้นหาได้สลายตัวไปแต่ประการไดไม่ สังคมจีนกลายใต้การปกครองของพรรคก๊กมินตั๋งยังคงมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การแบ่งระหว่างชนชั้นร่วมขั้นร่วมสองชนชั้นอยู่เช่นเดิม เว้นเสียแต่ว่าหลังจากก๊กมินตั๋งได้เปลี่ยนการปกครองแล้ว กลุ่มอภิชนมิได้ประกอบด้วยปราชญ์ขงจื้อเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น เพราะสมาชิกภาพในกลุ่มอภิชนได้ถูกแทนที่โดยคนของพรรคคณะชาติซึ่งครอบครองตำแหน่งและทำหน้าที่ทางสังคมทำนองเดียวกับผู้ที่พวกเขาได้เข้ามาแทน คือปราชญ์และผู้มีสถานภาพร่วมกับปราชญ์ทั้งหลาย ซึ่งถูกปลดออกไป

ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้าครอบครองอำนาจ กลุ่มอภิชนก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านองค์ประกอบอีกครั้งหนึ่งและแม้ว่าจะมีการโฆษณากันไปเป็นอย่างอื่น ระบบการจัดลำดับของสังคมจีนคอมมิวนิสต์ในทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นระบบสองชนชั้นอยู่ตามเดิม กล่าวคือมีกลุ่มอภิชนควบคุมอำนาจและครอบครองตำแหน่งสุดยอดและมีกลุ่มกรรมาชีพ (ซึ่งมีลักษณะเทียบได้กับชาวนาแต่เดิม) รั้งตำแหน่งต่ำสุดของสังคม การโฆษณาของพรรคคอมมิวนิสต์ในเรื่องความสำคัญทางสถานภาพของผู้พลีแรงงานให้แก่ประชาชน. . . . กระดูกสันหลังของสังคมและในเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันหมดของอาชีพเป็นสิ่งที่อาจจะพิสูจน์ให้เห็นว่าตรงกันข้ามกับความเป็นจริงได้โดยง่าย ถ้าเราเพียงแต่จะตั้งคำถามว่า กรรมกรจีนได้รับสถานภาพทางสังคมมาจากไหน จากคำขวัญของคอมมิวนิสต์ที่เน้นหนักในด้านความสำคัญของบทบาทและสถานภาพของกรรมกรหรือว่าจากเอกลักษณ์ที่แท้จริงของผู้เป็นกรรมกรเองซึ่งจำเป็นจะต้องเป็นคนละอย่างกับสหายของเขาที่มีส่วนได้เสียร่วมอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ เราก็จะเข้าใจได้แจ่มแจ้งว่าระบบการจัดลำดับของสังคมของจีนแบบที่แบ่งเป็นสองชนชั้นร่วมตามประเพณีนั้นยังคงสภาพอยู่ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยว่า กรรมกรอุตสาหกรรมในจีนคอมมิวนิสต์ทุกวันนี้ได้สร้างผลประโยชน์ทางอาชีพอย่างใหม่ขึ้นแต่ก็เป็นที่แน่นอนว่าในด้านสถานภาพทางสังคมนั้น กรรมกรเทียบได้กับหรือผนวกเข้าได้กับชนชั้นซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพมูลฐาน คือ ชนชั้นชาวนานั่นเอง ความแตกต่างด้านชนชั้นร่วมระหว่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กับราษฎรผู้ประกอบแรงงานสามัญของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันเตือนให้เรารำลึกถึงสถานการณ์ในจีนเก่าสมัยที่ทหารของจักรพรรดิ ซึ่งแม้จะมีปริมาณเคลื่อนไหวตามแนวนอนมาอยู่ตลอดเวลา แต่กลับได้รับสถานภาพทางสังคมจากเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตัว คือความเป็นชาวนาหรือลูกชาวนามากกว่าที่จะได้จากการเป็นสมาชิกในกองทัพของจักรพรรดิ

เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่า ภายในระบบการจัดระดับสังคมของจีนซึ่งประกอบด้วยชนชั้นร่วมขั้นมูลฐานสองชนชั้นนั้น การเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นการเคลื่อนไหวของเอกชนและไม่ว่าอัตราหรือปริมาณการเคลื่อนไหวทางสังคมจะมีมากน้อยแค่ไหน การเคลื่อนไหวทางสังคมของจีนจะมีขึ้นได้ก็เฉพาะแต่ภายในวงจำกัดของพรมแดนของชนชั้นร่วมสองชนชั้นที่มีอยู่นี้เท่านั้น เนื่องมาจากการที่สังคมจีนมีการเคลื่อนไหวทางสังคมประเภทนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลง “ปริมาณ” และไม่ใช่แบบ “คุณภาพ”  ในประเทศจีนทั้งภายใต้การปกครองของพรรคคณะชาติ ไม่เคยปรากฏว่ามีสมาชิกส่วนใดของสังคมที่เคยก่อตัวขึ้นใหม่และกำหนดว่าตัวเองเป็นชนชั้นร่วมที่มีสถานภาพโดยชอบธรรมและเป็นอิสระจากการควบคุมของกลุ่มภายนอก และสังคมโดยส่วนรวมจะต้องยอมรับว่าชนชั้นของตัวมีสถานภาพทางสังคมต่างหากจากชนชั้นร่วมทั้งสองที่มีอยู่แล้วแต่เดิม

ข้อสังเกตในเชิงประวัติศาสตร์ดังนี้น่าจะเป็นข้อพิสูจน์ได้แน่นอนว่าระบบสังคมจีนทำงานหรือทำหน้าที่ในลักษณะที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มและการเปลี่ยนแปลงในคุณภาพของสังคมเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ถ้าเรายอมรับในหลักการที่ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจตามครรลองของทุนนิยมสมัยใหม่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีชนชั้นร่วมของพ่อค้าและอุตสาหกรอยู่ในระบบสังคม (ชนชั้นร่วมนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมหรือ “การเปลี่ยนแปลงในคุณภาพ” เท่านั้น เราก็จะเข้าใจได้ทันทีถึงสาเหตุที่ประเทศจีนมิได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจตามแบบทุนนิยมสมัยใหม่ ข้อโต้แย้งของเรานั่นอยู่ที่ว่า เนื่องจากจีนมิได้อำนวยให้มีการเคลื่อนไหวทางสังคมในแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่ม จีนจึงไม่สามารถพัฒนาและก็ไม่พัฒนาไปตามวิถีทางนั้น

ในทางตรงกันข้ามกับจีน การจัดลำดับสังคมของญี่ปุ่นมีลักษณะสำคัญอยู่ที่ ความไม่มั่นคงถาวร ของระบบสถานภาพในสังคมญี่ปุ่น ไม่มีการสันนิษฐานล่วงหน้าว่าผลประโยชน์ของอาชีพใดจะต้องเป็นผลประโยชน์ที่อยู่ในตำแหน่งอันได้เปรียบและมีสถานภาพพิเศษตายตัว แตกต่างและเหนือผลประโยชน์ของอาชีพอื่น ด้วยเหตุนี้ในสังคมญี่ปุ่นจึงมีปรากฏการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสถานภาพและบทบาททางสังคมอยู่ตลอดเวลาและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดยั้ง เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงนี้ผลประโยชน์ของอาชีพใหม่ ๆ ก็เผยตัวขึ้นมาและกำหนดสถานภาพร่วมของตัวเองขึ้นโดยเป็นอิสระจากชนชั้นอื่นและก็เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในระบบสังคม การแบ่งทางสังคมในญี่ปุ่นนั้นต่างกับในจีนด้วยเหตุที่ว่าในสังคมญี่ปุ่น บทบาทของอาชีพแต่ละบทบาทเป็นบทบาทที่มีเกียรติ ถึงแม้แต่ละบทบาทจะไม่ได้เปรียบในสังคมเท่าเทียมกันก็ตาม ไม่มีอาชีพใด ๆ ที่ถือกัน แต่ดั้งเดิม ว่าเป็นอาชีพขั้นมูลฐานเพราะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อการคงอยู่ของสังคม และผลประโยชน์อื่น ๆ จะต้องยอมโอนอ่อนให้แก่อาชีพนั้นทั้งหมด บทบาทของอาชีพแต่ละบทบาทที่มีอยู่ในแต่ละกาลสมัยรวมทั้งศักดิ์ศรีของบทบาทนั้น ๆ ในแต่ละหน่วยแห่งการแบ่งงานเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์อยู่กับโครงสร้างของอำนาจ การทำหน้าที่เชื่อมโยงกันระหว่างโครงสร้างของอำนาจและศักดิ์ศรีของผลประโยชน์ด้านอาชีพแต่อย่างเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความแตกต่างระหว่างชนชั้นและความแตกต่างที่เนื่องมาจากปัจจัยในการวัดทางสังคมดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องหมายของระบบการจัดระดับของสังคมญี่ปุ่นในแต่ละยุค ในทุกยุคระบบการจัดลำดับชั้นในสังคมญี่ปุ่นมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของกลุ่มผลประโยชน์ทุกฝ่ายที่จะเพิ่มศักดิ์ศรีของตัวเองและตีค่าบทบาทของตัวเองว่าเป็นศักดิ์ศรีและสถานภาพที่สังคมจะต้องรับรู้ ในญี่ปุ่นไม่มีระบบการจัดลำดับชั้นในสังคมตามอุดมคติใด ๆ ที่ถือว่ามีอายุยั่งยืนเหนือผลประโยชน์อื่น ๆ ชนชั้นที่ได้เปรียบพยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะรักษาสถานภาพเดิมโดยการปฏิบัติต่อชนชั้นที่ไม่ได้เปรียบอย่างรุนแรง และโดยแยกตัวเองให้แตกต่างออกไปจากชนชั้นที่ไม่ได้เปรียบทั้งในแบบอย่างของการดำรงชีวิตและบริโภค (style of life and style of consumption) ในขณะเดียวกันชนชั้นที่ไม่ได้เปรียบก็พยายามอยู่อย่างไม่หยุดยั้งและโดยไม่ปิดบังที่จะขัดขืนกฎเกณฑ์ในการแบ่งแยกด้านชนชั้นซึ่งชนชั้นอื่นได้วางไว้อย่างหนาแน่น ทั้งนี้เพื่อที่จะปรับปรุงตำแหน่งและสถานภาพที่เสียเปรียบของตนบนชั้นบันไดของสังคม
           
เนื่องจากระบบการจัดลำดับทางสังคมญี่ปุ่น มีกฎเกณฑ์ในการวัดและแบ่งทางสังคมประเภทนี้ ระบบการจัดลำดับทางสังคมของญี่ปุ่นจึงแสดงให้เห็นได้อยู่ตลอดเวลาถึงความไม่มั่นคงถาวรของระบบ การเปลี่ยนแปลงแล้วเปลี่ยนอีกในด้านบทบาทและสถานภาพ ปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยต้นของประวัติศาสตร์ คือในยุคไทควา—ไทโฮ (.. 645—866) เมื่อราชสำนักของจักรพรรดิได้ใช้ความพยายามที่จะสถาปนาระบบชนชั้นที่มีลักษณะตัวตามแบบของสังคมจีนโดยให้อาชีพแต่ละประเภทอยู่ในสถานสูงต่ำเป็นการแน่นอนไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบตามอุดมคติแบบนี้ ราชวงศ์ และขุนนาง ข้าราชบริพารของจักรพรรดิจะดำรงตำแหน่งทางสังคมสูงสุดในฐานเป็นชนชั้นที่ได้เปรียบ ถัดจากระดับสูงสุดจะเป็นชนชั้นที่ไม่ได้เปรียบในสังคม คือ ชาวนาเจ้าของที่ดินซึ่งจะเป็นผู้เสียภาษีอากรให้กับจักรพรรดิและอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเกณฑ์ทหารและเกณฑ์แรงงาน ต่อจากชนชั้นนี้ลงไปจะเป็นชนชั้นที่ครอบครองตำแหน่งรั้งท้ายของสังคม คือ ชนชั้นทาส แต่ถึงแม้ทางราชสำนักจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะจัดระบบลำดับชั้นของสังคมขึ้นตามวิธีนี้ แต่วิธีการเช่นนี้ก็หาได้คงทนถาวรอยู่นานไม่ และก็เริ่มคลอนแคลนลงหลังจากที่เวลาได้ผ่านไปเพียงเล็กน้อย เนื่องมาจากการที่เจ้าของที่ดินเริ่มมีอำนาจขึ้นและค่อย ๆ ท้าทายอำนาจของจักรพรรดิด้วยการไม่ยอมเสียภาษีอากร นอกจากนั้นยังประกาศตัวเองเป็นอิสระไม่ยอมให้ราชสำนักมามีอำนาจเหนือที่ดินของตนด้วย ปรากฏการณ์สำคัญที่สุดก็คือการก่อตั้งตระกูลขึ้นในหมู่นักรบที่เคยมีส่วนช่วยจักรพรรดิโคบุนทำการรบระหว่างปี ค.. 674 ถึง 672  ตระกูลที่นักรับพากันก่อตั้งขึ้นเหล่านี้มีลักษณะที่กำหนดให้ลูกลานสืบเชื้อสายในทางสถานภาพและตำแหน่งต่อจากบรรพบุรุษของตนได้ ในทางสังคมวิทยานักรบเหล่านี้จึงเป็นผู้ก่อกำเนิดชนชั้นใหม่ขึ้นและเป็นชนชั้นซึ่งแสดงออกถึงความมีสถานภาพร่วมในหมู่สมาชิกและครอบครองตำแหน่งทางสังคมต่างหากจากชนชั้นที่จักรพรรดิต้องการจะให้มีขึ้นตามแบบจีน ในไม่ช้าชนชั้นใหม่นี้ก็นำจุดจบมาสู่ระบบการจัดลำดับทางสังคมตามกฏหมายในยุคไทควา--ไทโฮ ซึ่งราชสำนักวางผังเอาไว้ ในช่วงเวลาเดียวกันทาสเป็นจำนวนมาก็พากันปลดปล่อยตัวเองจากการปกครองอย่างเข้มงวดรุนแรงของนายทาส คือราชสำนักโดยการหนีไปร่วมกับเจ้าของที่ดินซึ่งกำลังแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน ยุคไทควา—ไทโฮ จึงสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ในเมื่อจักรพรรดิไม่อาจบังคับบัญชาเจ้าของที่ดินได้อีกต่อไป ในที่สุดเจ้าของที่ดินก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นขุนศึกและมีก่อตั้งระบบการจัดลำดับทางสังคมของสถานภาพที่มีลักษณะแน่นอนตายตัวแบบจีนนับว่าได้ถึงที่สุดในเมื่อโครงสร้างสังคมอันนี้สลายตัวลงและโครงสร้างใหม่ก่อรูปขึ้นมาแทนที่ โครงสร้างการจัดลำดับทางสังคมใหม่ของญี่ปุ่นในสมัยต่อมาจึงประกอบด้วย ราชวงศ์และขุนนางข้าราชบริพารของจักรพรรดิขุนศึกเจ้าของที่ดินในชนบท และขุนนางชั้นรองซึ่งอยู่ใต้อาณัติขุนศึกเจ้าของที่ดิน (คือ จูนิน หรือ ขุนนางซึ่งพำนักอยู่เป็นประจำในที่ดินของขุนศึก และ จิซู หรือขุนนางฝ่ายปกครองและคุ้มกัน) โครงสร้างใหม่นี้แตกต่างจากโครงสร้างเก่าของระบบจัดลำดับทางสังคมในยุคไทควา—ไทโฮ โดนนัยสำคัญ คือ โครงสร้างอันนี้จัดสถานภาพและลำดับของราชวงศ์และขุนนางข้าราชบริพารของจักรพรรดิให้เท่าเทียมกันกับและไม่สูงกว่าขุนศึกเจ้าของที่ดินในชนบท บรรดาขุนศึกเจ้าของที่ดินเหล่านี้ซึ่งรวมถึงตระกูลฟูจิวารา ต่างก็ได้รับสถานภาพร่วมโดยมีอิสระและเป็นที่ยอมรับของสังคมและอยู่ในตำแหน่งต่างหากจากชนชั้นของกลุ่มจักรพรรดิ แม้ว่าจะมีสถานภาพร่วมกันอยู่ก็ตาม ชนชั้นที่อยู่ภายใต้ชนชั้นร่วมทั้งสองก็ได้แก่ชนชั้นชาวนาซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นทหารด้วย
           
โครงสร้างทางสังคมใหม่นี้ มีลักษณะแตกต่างจากโครงสร้างเดิมอยู่หลายประการแม้ว่าชนชั้นจักรพรรดิจะยังคงครองตำแหน่งสูงสุดในสังคม แต่ชนชั้นนี้หาได้ผูกขาดตำแหน่งนี้ในระบบการจัดลำดับทางสังคมแต่ประการใดไม่เพราะชนชั้นจักรพรรดิต้องแบ่งเนื้อที่ในตำแหน่งได้เปรียบทางสังคม ให้แก่ชนชั้นเจ้าของที่ดินซึ่งเปลี่ยนฐานะเป็นขุนศึกไปแล้วด้วย ภายใต้ชนชั้นร่วมทั้งสองนี้เป็นชนชั้นของชาวนา—นักรบ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นทาสแล้วหนีจากสถานภาพของชนชั้นร่วมภายใต้อาณัติของนายทาส คือ ชนชั้นจักรพรรดิไปสู่อิสรภาพ เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป ชาวนาและนักรบก็แยกตัวเองออกจากกันและเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นชนชั้นใหม่อีกสองชั้น ได้แก่ชนชั้นชาวนาและชนชั้นนักรบ แต่ละชนชั้นก็มีสถานภาพร่วมทางสังคมอย่างใหม่ กล่าวคือ ชาวนาที่เป็นนักรบไปด้วยพร้อม ๆ กันต่างพากันละทิ้งอาชีพทางเกษตรกรรม และใช้กำลังทหารของตัวบีบบังคับเพื่อนชาวนาพวกที่ไม่เป็นนักรบให้ลงไปสู่ตำแหน่งของชนชั้นชาวนาที่แท้จริง ให้มีหน้าที่ทำนาหาประโยชน์ให้แก่ขุนศึก เจ้าของที่ดิน (ไดเมียว) ในที่สุดชาวนาจึงอยู่ในลักษณะหรือสถานภาพกึ่งทาสกึ่งไท (serf) ในสมัยนี้เองที่ระบบฟิวตัล (feudalism) ได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นแบบหรือลักษณะของสังคมญี่ปุ่นสมัยกลาง

ในบรรดาขุนศึกเจ้าของที่ดินซึ่งจัดเป็นชนชั้นร่วมที่ได้เลื่อนสถานภาพและอันดับขึ้นไปเทียบกับชนชั้นจักรพรรดินั้นจะต้องมีสมาชิกของตระกูลที่เข้มแข็งและรุ่งโรจน์ตระกูลหนึ่งอยู่เสมอที่มีอำนาจควบคุมราชสำนักและดำเนินราชกิจของจักรพรรดิในพระนามขององค์จักรพรรดิเอง ขุนศึกเจ้าของที่ดินดังกล่าวนี้ต่อมาได้สมญาว่า โซกุน และมีตำแหน่งเป็นผู้ปกครองในส่วนกลางอยู่ในพระนามของจักรพรรดิ ส่วนขุนศึกเจ้าของที่ดินตระกูลอื่น ๆ ก็มีความเกี่ยวดองอยู่กับ โชกุนโดยมีความใกล้ชิดแตกต่างกันไปตามลำดับ โชกุนและขุนศึกเจ้าของที่ดินอื่น ๆ จึงดำรงตำแหน่งที่ได้เปรียบในระดับสูงสุดของสังคมเคียงข้างกันไปกับราชสำนักของจักรพรรดิ ชนอีกชั้นหนึ่งซึ่งมีฐานะเทียบได้หรือผนวกเข้าได้กับชนชั้นกันไปกับราชสำนักของจักรพรรดิ ชนอีกชั้นหนึ่งซึ่งมีฐานะเทียบได้หรือผนวกเข้าได้กับชนชั้นจักรพรรดิและขุนศึกเจ้าของที่ดิน คือ ชนชั้นสงฆ์ในศาสนาพุทธซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินประดับอาวุธและทำการรบอย่างเดียวกับชนชั้นขุนศึกเจ้าของที่ดินฝ่ายฆราวาส ในระดับที่ต่ำกว่าชนชั้นทั้งสองดังกล่าวลงมาเป็นระดับของบรรดาอัศวินลูกน้องของขุนศึก ซึ่งมีสถานภาพเป็นชนชั้นร่วมอีกชนชั้นหนึ่ง ในฐานะเป็นชนชั้นร่วมในสังคม อัศวินลูกน้องของขุนศึกได้รับอภิสิทธิที่จะไม่ต้องทำงานในไร่นาและผลิตอาหารเพื่อบริโภค อัศวินได้รับผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งของข้าวจากนาของขุนศึกเจ้าของที่ดิน ซึ่งอัศวินรับใช้อยู่สำหรับเป็นปัจจัยในการยังชีพ ต่อจากชนชั้นอัศวินเป็นชนชั้นชาวนา ซึ่งมีฐานะแบบกึ่งทาสกึ่งไท และอยู่ในลำดับต่ำที่สุดของระบบการจัดลำดับทางสังคม ชาวนาเหล่านี้รวมกันเป็นชนชั้นที่เสียเปรียบในสังคมถูกบังคับให้ทำการเพราะปลูกในที่ดินของขุนศึกเจ้าของที่ดินโดยที่ตัวเองไม่ได้รับผลประโยชน์จากแรงงานของตัวเลย
           
ในยุคโตกูกาวา ( .. 1603—1868) โชกุนซึ่งกุมอำนาจปกครองอยู่โดยพฤตินัยออกกฤษฏีกาให้กำหนดชนชั้นเสียใหม่ให้เป็นการแน่นอนตายตัว ภายในระบบใหม่ตามอุดมคติของโชกุนนี้ สังคมญี่ปุ่นจะประกอบด้วยชนสี่ชั้น คือ ชิ-โน-โค-โซ ซึ่งหมายถึงนักรบ ชาวนา ช่าง และพ่อค้า แต่ในระบบใหม่นี้โชกุนก็มิได้รวมฝ่ายผลประโยชน์หลายฝ่ายเข้าไว้ด้วย คือ สงฆ์ (ซึ่งผนวกเข้าเป็นชนชั้นร่วมกับขุนศึกเจ้าของที่ดิน) ราชวงศ์และขุนนางขาราชบริพารของจักรพรรดิและพวกจัณฑาล (เอต้า) การที่โชกุนพยายามจัดระบบชนชั้นในสังคมเสียใหม่และต้องการให้เป็นระบบที่มีลักษณะตายตัวดังกล่าวนี้ เนื่องจากโชกุนต้องการรักษาสถานภาพเดิมในสังคมไว้ให้ถาวรมั่นคงและไม่มีการเปลี่ยนแปลง โชกุนต้องการให้ขุนศึกดำรงตำแหน่งได้เปรียบเทียบชนชั้นสูงสุดในสังคม มีชาวนาเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงและช่างกับพ่อค้า (ซึ่งเรียกกันว่าชนชั้น โช) เป็นชนชั้นต่ำไม่ได้เปรียบในสังคม แม้กระนั้นก็ตามผลประโยชน์ในอาชีพแต่ละอย่างดังกล่าวนี้ต่างก็มีสถานภาพเป็นชนชั้นร่วมทั้งสิ้น ภายในเวลาไม่นานชนชั้นพ่อค้าก็เติบโตขึ้นมีอำนาจทางเศรษฐกิจและขยายอิทธิพลเหนือชนชั้นนักรบ ซึ่งตกเป็นลูกหนี้ของพ่อค้าอย่างมากมาย ปรากฎการณ์ที่ชนชั้นนักรบเสื่อมสถานภาพนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นโดยตรงถึงก้าวแรกแห่งอาวสานของระบบฟิวดัลในญี่ปุ่น ในช่วงสุดท้ายของระบบฟิวดัลขุนศึกเจ้าของที่ดินจำนวนไม่น้อยพากันรวมตัว (หรือรวมสถานภาพ) เข้ากับพ่อค้า และสร้างชนชั้นขึ้นใหม่อันได้แก่ชนชั้นพ่อค้า—อุตสาหกร ในทำนองเดียวกันเมื่อมีการก่อตั้งระบบราชการและกองทัพสมัยใหม่ขึ้น นักรบ ซามูไร จำนวนมาก็เข้ารับตำแหน่งในองค์การของรัฐทั้งทางฝ่ายพลเรือนและทหาร และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอาชีพอย่างใหม่ขึ้นในระบบการแบ่งงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ในทางตรงกันข้ามกับชนชั้นที่ได้เปรียบซึ่งประสานตัวเข้าด้วยกันเหล่านี้ คนอาชีพชาวนาซึ่งถูกกำหนดให้เป็นกสิกรเสรี (farmer) ในระบบการจัดลำดับทางสังคมยุคโตกูกาวา กลับตกไปสู่ตำแหน่งเสียเปรียบอีกครั้งหนึ่ง โดยผลของการบีบบังคับอย่างรุนแรงของกลุ่มสถานภาพใหม่ซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ กลุ่มชาวนา (peasant) จึงตกไปอยู่ลำดับต่ำสุดของสังคม และต้องถูกบังคับให้ทำนาในที่นาซึ่งตัวไม่ได้เป็นเจ้าของอีกครั้งหนึ่ง ในสายตาของพ่อค้าซึ่งใช้อำนาจเงินซื้อกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน ชาวนากลายเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงเพราะชาวนาต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน ชาวนากลายเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงเพราะชาวนาต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน ในแง่ของทางราชการก็เช่นกัน ปรากฏว่าชาวนาเป็นขุมทรัพย์ทางภาษีอากรที่สำคัญ ในทุกด้านชาวนาจึงเป็นชนชั้นที่ยืนอยู่บนขั้นที่ต่ำสุดของบันไดสังคม

การเจริญเติบโตของลัทธิอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรือทุนนิยมสมัยใหม่ในญี่ปุ่นหาใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญไม่ สังคมญี่ปุ่นมีส่วนประกอบของโครงสร้างมาหลายที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางดังกล่าวนี้ ส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างอันหนึ่งซึ่งช่วยปูพื้นฐานให้ทุนนิยมสมัยใหม่ก่อกำเนิดขึ้นได้แก่ ลักษณะหรือประเภทของการเคลื่อนไหวทางสังคมของญี่ปุ่นเอง เราได้วิเคราะห์ให้เห็นแล้วถึงการเปลี่ยน (รูปและหน้าที่) ของโครงสร้างของระบบชนชั้นในยุคสำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลายยุค ปรากฏการณ์ที่เราศึกษาแสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลาในสังคมญี่ปุ่น การเคลื่อนไหวทางสังคมประเภทนี้ได้ทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงประเภทคุณภาพในที่สุดเมื่อความจำเป็นทางสังคมกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงประเภทนี้ก็นำไปสู่การก่อกำเนิดทุนนิยมสมัยใหม่
           
ทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งเป็นองค์การทางสังคมและเศรษฐกิจที่เสริมสร้างสภาวการณ์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามครรลองเฉพาะอย่างก่อกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นมิใช่เนื่องมาจากผลการปฏิบัติตามแผนพัฒนาภายในกรอบของรัฐบาลหรือราชการใด ๆ แต่เป็นการทำหน้าที่ของโครงสร้างสังคมอันหนึ่ง ซึ่งอำนวยให้การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มและการเปลี่ยนโครงสร้างเกิดขึ้นได้ เมื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมอำนวยให้ชนชั้นร่วมของพ่อค้าและอุตสาหกรก่อร่างขึ้นและชนชั้นร่วมนี้มีความแข็งแกร่งเพียงพอในทางเศรษฐกิจและสังคมแล้ว สังคมญี่ปุ่นโดยส่วนรวมก็เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวเองและพัฒนาทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจตามวิถีทางอันนั้นไปพร้อมกัน

ในตอนก่อน ๆ เราได้วางรากฐานทางทฤษฏีและแสดงหลักฐานจากสังคมจีนและญี่ปุ่นสนับสนุนคำอธิบายของเราไว้พอควรแล้ว ต่อไปนี้เราจะหันมาสนใจในประเทศเอเชียอีกประเทศหนึ่ง คือ ไทย การตรวจสอบปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์ของไทยทำให้เราทราบได้ว่า ลักษณะของการเคลื่อนไหวทางสังคมของไทยเป็นแบบการเคลื่อนไหวของเอกชนและไม่ใช่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม การที่จะเข้าใจเนื้อหาของการเคลื่อนไหวของเอกชนในสังคมไทยนั้น จำเป็นต้องกระทำโดยการพยายามวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นร่วมในวิถีทางที่โครงสร้างของสถานภาพ กลไกของอำนาจ และระบบการแบ่งงานของสังคมไทย (เช่นเดียวกับในสังคมอื่นทุกสังคม) มีความสัมพันธ์ทางหน้าที่เกี่ยวเนื่องกัน และการวิเคราะห์ต้องกระทำตลอดช่วงประวัติศาสตร์ เริ่มต้นตั้งแต่ระยะแรกที่สุดของยุคสุโขทัย (.. 1238—1350) เมื่อชนชาวไทยได้รวมตัวกันขึ้นเป็นประเทศชาติภายใต้การปกครองแบบ “ปิตุราชย์”  (พ่อเมือง) ซึ่งทรงพระนามว่าพระร่วง ผู้ปกครองประเทศพร้อมด้วยราชตระกูลและขุนนางของราชสำนักดำรงตำแหน่งสูงสุดในระบบสูงต่ำของสถานภาพ บุคคลในผลประโยชน์ทางอาชีพประเภทนี้รวมตัวกันขึ้นเป็นชนชั้นร่วมที่อยู่ใต้ตำแหน่งได้เปรียบในสังคมและคงความเป็นชนชั้นที่ได้เปรียบอยู่ในระบบการจัดลำดับทางสังคมของไทยอยู่ตลอดเวลา นับเป็นเวลาหลายศตวรรษในระดับต่ำกว่าชนชั้นร่วมที่ได้เปรียบนี้เป็นคนสามัญที่มีผลประโยชน์ทางอาชีพหลายอย่าง ที่เป็นมูลฐานที่สุดได้แก่ผลประโยชน์ทางอาชีพเกษตรกรรม ผลประโยชน์ในอาชีพอื่นที่ผนวกหรือเทียบเข้าได้กับเกษตรกรรมก็ได้แก่ การค้าขายและการช่างฝีมือ ผู้ประกอบอาชีพทางใช้ฝีมือซึ่งตามประเพณีก็อยู่ใกล้ชิดกับผืนดินอยู่แล้วจึงจัดเทียบสถานภาพได้เป็นชนชั้นเดียวกับชาวนาได้อย่างง่ายดาย อาชีพพ่อค้าก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์หนึ่งในยุคนี้จะพยายามชักจูงให้พัฒนาอยู่มาก แต่การค้าก็มีสภาพจัดเข้าได้ในชั้นเดียวกับอาชีพทำนาอย่างไม่ต้องสงสัย ในสมัยแรกของประวัติศาสตร์ไทย ชาวนาเป็นชาวนาเสรี ไม่ถูกบังคับหรือถูกเกณฑ์แรงงาน นอกจากนั้นยังไม่มีทาสในสังคม ทุกอาชีพดังกล่าวนี้จึงครอบครองตำแหน่งที่ไม่ได้เปรียบในสังคม

นอกจากชนชั้นร่วมดังกล่าว ตั้งแต่แรกเริ่มยังมีคณะสงฆ์ในพุทธศาสนาซึ่งเป็นกลุ่มสถานภาพแยกอยู่โดยเฉพาะ เมื่อเปรียบเทียบกับคณะสงฆ์ในพุทธศาสนาของญี่ปุ่น คณะสงฆ์ไทยไม่ได้ดำเนินบทบาทของผู้มีผลประโยชน์ในอาชีพเจ้าของที่ดินและก็มิได้มีสถานภาพเทียบหรือผนวกเข้ากับชนชั้นนักรบ เพราะชนชั้นนักรบไม่มีอยู่ในสังคมไทย ถีงแม้ว่าพระสงฆ์ไทยจะได้เปรียบ แต่ก็มิได้มีสถานภาพผนวกเข้ากับสถานภาพของชนชั้นที่ได้เปรียบฝ่ายฆราวาส หากแต่คณะสงฆ์ดำรงตำแหน่งทางสังคมอยู่นอกระบบสูงต่ำแห่งสถานภาพของฆราวาส ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า “การแยกสถานภาพ” (status separation) ระหว่างฝ่ายบ้านกับฝ่ายวัด (หรือทางโลก กับทางธรรม) ในระบบการจัดลำดับทางสังคมของไทยปรากฏการณ์ทำนองนี้อาจสังเกตเห็นได้ตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
           
เมื่อใกล้จะสิ้นยุคสุโขทัย ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างในสังคมไทยอันเป็นผลจากการสงครามติดพันกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขมร ประเทศไทยจับเชลยศึกมาได้เป็นจำนวนมาก เชลยศึกเหล่านี้ถูกนำมาเป็นทาสในประเทศไทย ต่อจากนั้นก็ปรากฏมีทาสสินไถ่ (Bond Slavery) ขึ้น ทาสจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยและครองตำแหน่งอยู่ต่ำสุดบนบันไดแห่งสถานภาพ แต่ถึงแม้ทาสในสังคมไทยจะมีชะตากรรมอย่างเดียวกันหรือคล้ายคลึงกับทาสในสังคมอื่น แต่ทาสในประเทศไทยก็มิเคยได้ก่อรูปทางสังคมขึ้นเป็นชนชั้นร่วมต่างหากจากชนชั้นอื่น ทั้งนี้เพราะทาสมีสถานภาพที่ไม่แตกต่างไปจากชนชั้นของผู้มีผลประโยชน์ทางอาชีพเกษตรกรรมอย่างอื่นมากนักและคนในอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมดในสมัยต่อมาก็ได้ถูกแบ่งแยกออกอย่างชัดเจนจากชนชั้นอภิสิทธิทั้งหลาย ชาวนาและผู้ประกอบอาชีพอื่นที่คล้ายคลึงกันถูกเกณฑ์แรงงานและเกณฑ์ทหารตามพระราชกฤษฏีกา ผลจากการสงครามกับเขมรอีกประการหนึ่ง คือ การที่พระเจ้าแผ่นดินทางแต่งตั้งพระองค์เองขึ้นเป็นเทวราชย์โดยเปลี่ยนพระราชสมญาจากที่มีอยู่เดิม คือ ปิตุราชย์ นักเขียนคนหนึ่งอธิบายลักษณะของเทวราชย์ไทยในสมัยกลาง ว่าทรงเป็น “พระมหากษัตริย์ที่มีคุณลักษณะของเทพเจ้าพราหมณ์ พระองค์ทรงสถิตย์อยู่ท่ามกลางการคุ้มครองป้องกันของพลังลึกลับในลัทธิพราหมณ์ เช่น เครื่องประดับของพระราชาที่มีเวทย์มนต์ พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และห้อมล้อมอยู่ด้วยขุนนางที่ชำนาญทางประจบสอพลอ ตำแหน่งของพระองค์เป็นตำแหน่งที่ศักดิ์สิทธ์โดดเดี่ยวและห่างไกล ประชาชนสามัญไม่พึงเข้าใกล้พระองค์ ผู้ที่จะกราบทูลพระองค์ก็ต้องพูดด้วยภาษาเฉพาะเพื่อแสดงออกซึ่งความสักการะบูชา ศิลปจำลองลักษณะของพระองค์ด้วยรูปของพลังเหนือธรรมชาติ”  ข้าราชสำนักซึ่งเป็นขุนนางข้าราชบริพารต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวงศ์ทั้งหลายต่างก็แยกตัวเองออกไปตามระยะทางสังคม (social distance) ที่ห่างไกลจากสามัญชน ตามขั้นบันไดแห่งสถานภาพสามัญชนตกอยู่บนชั้นต่ำสุดตลอดไป

พิจารณาจากแง่ของการวิเคราะห์ชนชั้นร่วม การเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในยุคสุโขทัยต่อยุคอยุธยานี้ แม้ว่าจะมีผลกระทบถึงประชาชนหลายฝ่าย แต่โดยแท้จริงแล้วก็หาได้มีผลต่อระบบจัดลำดับทางสังคมของสถานภาพที่มีอยู่ไม่ ความแตกต่างขั้นมูลฐานระหว่างชนชั้นได้เปรียบกับชนชั้นไม่ได้เปรียบ (ซึ่งรวมถึงทาส) มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย การเปลี่ยนแปลงของระยะทางสังคมระหว่างชนชั้นร่วมทั้งสองและการที่มีทาสเพิ่มเข้ามาเป็นส่วนประกอบของสังคมเป็นเพียงสิ่งที่แสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณ หาใช่การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพแต่อย่างใดไม่ การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในโครงสร้างและมิใช้การ เปลี่ยนโครงสร้าง ของระบบการจัดลำดับสังคม

เมื่อพระมหากษัตริย์ของไทยทรงเปลี่ยนไปเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.. 2475 กลไกของอำนาจในสังคมก็เปลี่ยนไปเป็นส่วนประกอบไปด้วย คณะการเมืองหลายคณะได้ถีบตัวขึ้นไปแสดงบทบาทของผู้นำสุดยอดในสังคม ในบรรดาคณะการเมืองเหล่านี้มีรวมทั้งข้าราชการและพลเรือนที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก ซึ่งร่วมมือกันโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วย ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก่อให้เกิดมีกลุ่มผลประโยชน์อย่างใหม่ขึ้นในสังคมไทย แต่อย่างไรก็ต้องตามผลประโยชน์ใหม่แต่ละแผนกนี้หาได้มีความแตกต่างในสถานภาพกับผลประโยชน์ของคณะบุคคลที่เขาขึ้นมาครองอำนาจแทน อันได้แก่พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และขุนนางเดิมแต่ประการใดไม่ โดยแท้จริงแล้ว พระมหากษัตริย์ (ซึ่งก็ยังทรงครองตำแหน่งสูงสุดบนบันไดแห่งสถานภาพอยู่) และแผนกผลประโยชน์ตามประเพณีที่กล่าวไปแล้วทุกแผนก ต่างก็ยังคงร่วมกันครอบครองสถานภาพของชนชั้นที่ได้เปรียบและผนวกหรือเทียบสถานภาพเข้าได้กับสถานภาพของผู้คุมอำนาจปกครองรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และร่วมกันเป็นชนชั้นได้เปรียบในสังคมยุคปัจจุบันนี้

นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ( .. 1858—1910 ) เป็นต้นมาการเกณฑ์แรงงานประชาชนได้ถูกยกเลิกหมดสิ้นไปและในรัชกาลของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ทรงประกาศเลิกทาส ปฏิบัติการทั้งสองประการนี่ของราชบัลลังก์ไทยในศตวรรษที่ 19 ทำให้ชาวนาไทยได้รับอิสรภาพอย่างมาก ในปัจจุบันกสิกรไทยเป็นราษฏรเสรีผู้เสียภาษีอากรและเช่นเดียวกันกับชาวไทยที่มีร่างกายสมบูรณ์ทั้งหลาย กสิกรมีหน้าที่ต่อรัฐตามพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร กระนั้นก็ดี ตามแนวทางวิเคราะห์ชนชั้นร่วมของเรา ระบบสูงต่ำของสถานภาพขั้นมูลฐานซึ่งประกอบด้วยชนชั้นร่วมที่ได้เปรียบและชนชั้นร่วมที่ไม่ได้เปรียบยังคงสภาพ และทำหน้าที่อยู่เช่นเดิม การแบ่งทางสถานภาพระหว่างกลุ่มร่วมขั้นมูลฐานทั้งสองกลุ่มในประเทศไทยสมัยปัจจุบันนี้ ศาสตราจารย์ไมเคิล มอร์แมน (Michael Moerman) ได้ให้ข้อสังเกตไว้อย่างชัดเจนในรายงานการศึกษาชุมชนชาวนาไทยในภาคเหนือ ศาสตราจารย์มอร์แมนเขียนว่า :

. . . . ข้าราชการแต่งเครื่องแบบสีกากีตามแบบตะวันตกไปปราศรัยกับชาวบ้านซึ่งแต่งตัวแบบพื้นเมือง นุ่งกางเกงขาก๊วยกว้าง ข้าราชการปราศรัยเป็นภาษาไทยกลาง ซึ่งชาวบ้านส่วนมากฟังไม่ใคร่เข้าใจ และแต่ละคนก็พูดได้เพียงเล็กน้อยเมื่อปราศรัยจบข้าราชการได้รับเลี้ยงข้าจ้าวหุง ซึ่งข้าราชการรับประทานด้วยช้อนส้อม ชาวบ้านกินข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียว) ด้วยมือ ความแตกต่างกันซึ่งดูเพียงผิวเผินนี้ คือ สัญลักษณ์ของความแตกต่างทางเอกลักษณ์ (identification) อย่างแท้จริง. . .

แผนกผลประโยชน์อีกแผนกหนึ่งที่จำต้องตรวจสอบอย่างจริงจังในการศึกษาการจัดลำดับทางสังคมของไทยคือ พ่อค้า ตามประวัติศาสตร์ พ่อคาในสังคมไทยดำเนินการบทบาทของชนชั้นที่ไม่ได้เปรียบอยู่ตลอดมา ด้วยเหตุนี้สถานภาพของพ่อค้าจึงเทียบหรือผนวกเข้ากับสถานภาพของชนชั้นร่วมที่ไม่ได้เปรียบ ในปัจจุบันประเทศไทยมีผลประโยชน์ทางอาชีพใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นหลายอย่างซึ่งเกี่ยวเนื่องอยู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กำลังก่อรูปอยู่ทุกวัน นอกจากนักธุรกิจซึ่งมีอยู่หลายระดับแล้วยังมีผู้ประกอบอาชีพแบบ “พนักงาน” (white collars) และผู้ประกอบแรงงาน (labor) อีกมาก เพื่อที่จะเข้าใจการรวมกลุ่มสถานภาพของอาชีพเหล่านี้ เราจำต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญสองประการ ประการแรกได้แก่สมาชิกภาพของคนจีนในผลประโยชน์ของอาชีพสมัยใหม่ คือ การพาณิชย์และแรงงาน ประการที่สอง ได้แก่ สถานภาพทางสังคมของ คนไทย ซี่งเกี่ยวข้องอยู่กับอาชีพสมัยใหม่เหล่านี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับประการแรก เราเห็นว่าผลประโยชน์ในทางอาชีพของคนจีนก่อให้เกิดกลุ่มสถานภาพที่แยกออกต่างหาก จากระบบสถานภาพไทยในทำนองเดียวกับที่สถานภาพของสงฆ์ในพุทธศาสนาแยกตัวออกต่างหากเมื่อเปรียบกับการประเมินสถานภาพทางฝ่ายฆราวาสของไทย ความแตกต่างระหว่างพระสงฆ์กับคนจีน เมื่อพิจารณาจากแง่ของโครงสร้างชนชั้นร่วมของสังคมไทยก็มีอยู่แต่เพียงว่า กฏเกณฑ์ในการประเมินสถานภาพของคนจีนในสังคมไทย คือ ความเป็นจีน และกฏเกณฑ์ในการประเมินสถานภาพของสงฆ์ก็คือ ความเป็นพระภิกษุ ในด้านที่เกี่ยวกับปัจจัยประการที่สองเราเห็นว่าสถานภาพของอาชีพทางการพาณิชย์และอาชีพแรงงานของคนไทยนั้นผนวกเข้าได้หรือเทียบเข้าได้กับสถานภาพของชนชั้นร่วม (ฝ่ายฆราวาส) ที่มีอยู่แล้วสองชั้นอย่างสะดวกดาย หลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เรายอมรับได้ว่าอาชีพแรงงานในสังคมไทยได้กำหนดตัวเองขึ้นเป็นกลุ่มสถานภาพต่างหากจากกลุ่มอื่น ตามข้อเท็จจริงสถานภาพของคนในอาชีพนี้ผนวกเข้ากับสถานภาพชนชั้นร่วมที่มีตำแหน่งอยู่ที่เชิงบันไดหรือขั้นต่ำสุดของบันไดสถานภาพ คือ ชาวนานั่นเอง ในทำนองเดียวกัน อาชีพพนักงานชั้นสูงและอาชีพธุรกิจอื่น ๆ ก็ผนวกเข้าได้กับชนชั้นร่วมซึ่งอยู่ในตำแหน่งได้เปรียบเห็นได้ชัดเจนว่า คนในอาชีพเหล่านี้มีวิถีชีวิตและค่านิยมในการบริโภคเช่นเดียวกับสมาชิกของชนชั้นร่วมที่อยู่ในระดับเบื้องบนของบันไดสถานภาพ

จึงนับว่าการวิเคราะห์ชนชั้นร่วมของเราเป็นที่สรุปลงได้ ณ ที่นี้ เป็นการแน่นอนว่าระบบการจัดลำดับสังคมไทยเช่นเดียวกับระบบของจีน เป็นระบบที่อำนวยให้มีการเคลื่อนไหวของเอกชน และไม่ส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มเกิดขึ้นได้การเคลื่อนไหวของเอกชนอย่างที่เราได้แสดงให้เห็นแล้วเปิดโอกาสให้เอกชนและ/หรือครอบครัวของเอกชนเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในสังคมได้อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างอุดมคติของการเคลื่อนไหวประเภทนี้ได้แก่ การที่บุคคลที่เป็นชายเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้เขาเปลี่ยนสถานภาพของเขาเองเป็นรายบุคคล แต่ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่ภายในกรอบแห่งโครงสร้างของระบบการจัดลำดับของสถานภาพ การเคลื่อนไหวเช่นนี้มิได้ทำให้โครงสร้างของสังคมเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

เนื่องจากระบบสังคมไทยมีการเคลื่อนไหวประเภทนี้ ระบบสังคมไทยจึงมิได้ผลิตชนชั้นร่วมอาชีพพาณิชย์และมิได้เปลี่ยนโครงสร้างสังคมจนถึงสมัยปัจจุบัน เพราะว่าการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงเป็นคุณภาพนั้นไม่เกิดมีขึ้น (และไม่อาจเกิดขึ้นได้) ในระบบการจัดลำดับสังคมไทย เราจึงยืนยันว่าถ้าหากจะมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมขึ้นได้ในสังคมไทย การพัฒนานั้นจะต้องเกิดขึ้นภายในเนื้อหาหรือภายในตัวโครงสร้างชนชั้นที่มีอยู่แล้วแต่เดิมเท่านั้น และก่อนที่การพัฒนาตามวิถีทางนี้จะมีขึ้นได้ ชนชั้นร่วมที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นที่ได้เปรียบจะต้องมีความผูกพันทางทัศนคติแบบที่ต้องการให้มีการพัฒนาและอนุมัติ ให้มีการพัฒนาขึ้น

ในจีนคอมมิวนิสต์ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น (หรืออาจจะขึ้น) ภายในกรอบของโครงสร้างของระบบสูงต่ำแห่งสถานภาพและระบบอำนาจ ซึ่งมีมาแล้วแต่ดั้งเดิมในประวัติศาสตร์ ถ้าการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากความผูกพันทางทัศนคติ (ไม่ว่าจะเนื่องมาจากการถูกบีบบังคับหรือโดยอาสาสมัครก็ตาม) ของชนชั้นร่วมที่อยู่ในตำแหน่งได้เปรียบ และมิใช่เป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับจีนคอมมิวนิสต์ การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศจีนคณะชาติก็ดูจะเริ่มตั้งหลักได้แล้วเช่นกัน แต่ก็คล้ายคลึงกับสถานการณ์บนผืนแผ่นดินใหญ่ การพัฒนาเศรษฐกิจในจีนซึ่งดูเหมือนว่ากำลังเกิดขึ้นนี้ เห็นได้ว่าเป็นผลเนื่องมาจากความผูกพันทางทัศนคติของชนชั้นร่วม ซึ่งมีตำแหน่งและสถานภาพได้เปรียบอยู่แล้วในระบบการจัดลำดับสังคมและมิใช่เพราะมีโครงสร้างสังคมอันใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่โครงสร้างเก่าแต่อย่างใด  




           



            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น